เงื้อแล้วก็ต้องฟัน มนันยา
Guy De Maupassant
เงื้อแล้ว…ก็ต้องฟัน
มนันยา : แปล
“เออร์เนสต์ เฮมมิ่งเวย์ นักเขียนอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่เคยกล่าวไว้ว่า เราควรจะอ่านผลงานของนักเขียนที่ตายแล้ว เพราะนักเขียนที่ตายแล้วเท่านั้น จึงจะมีผลงานชั้นเลิศที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ให้กับนักอ่าน เนื่องจากว่ามันผ่านบทพิสูจน์ของกาลเวลา เหลือมาให้อ่านจนถึงมือเราในวันนี้ก็เพราะตัวมันเอง ไม่ใช่อาศัยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อใดๆ ฉันคิดว่า งานเขียนของโมปัสซังต์ แบบนี้แหละ อยู่ในข่ายหนังสือควรอ่าน---ตามทัศนะของเฮมมิ่งเวย์” ’ปราย พันแสง
จากใจมนันยา
กีย์ เดอ โมปัสซังต์ เป็นนักเขียนเรื่องสั้นที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของโลก ผลงานของเขาเป็นอมตะและเป็นที่นิยมอ่านมาจนทุกวันนี้ เนื่องจากชาวโลกเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องสั้นที่ไม่อ่านไม่ได้เลยทีเดียว
มีผู้แปลงานของโมปัสซังต์เป็นภาษาต่างๆ มากมาย ในศตวรรษที่ 20 ช่วงทศวรรษที่ 7 และ ที่ 9 นั้นงานของเขาที่แปลเป็นภาษาอังกฤษออกวางจำหน่ายแทบจะทุกปี โดยนักแปลหลายต่อหลายคน แสดงให้เห็นความนิยมของนักอ่านเป็นอย่างดี
เรื่องของโมปัสซังต์เป็นภาษาปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งนิยมสร้างประโยคยืดยาวโดยมีอนุประโยคขยายมากและมีคุณศัพท์ซ้อนคุณศัพท์ ทำให้คนสมัยนั้นรู้สึกว่าอ่านยาก รุงรัง อึดอัดหายใจไม่ออก ดังนั้นผู้แปลจึงเก็บเนื้อความและรสภาษาไว้อย่างเคร่งครัด แต่แปลโดยใช้ประโยคสั้นๆ เรียบเรียงประโยคแบบที่คนไทยอ่านรื่นหูโดยเนื้อความคงเดิมทุกประการ ไม่ติดกับรูปประโยคตามต้นฉบับเดิมซึ่งไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรแก่คนอ่านและไม่เป็นภาษาไทยที่ดี
ปัญหาวัฒนธรรมและคำอธิบายอื่นๆ ที่จำเป็น ผู้แปลได้ทำหมายเหตุไว้ท้ายเรื่องแต่ละเรื่องเท่าที่จำเป็น ส่วนการออกเสียงชื่อเฉพาะต่างๆ ในภาษาฝรั่งเศสนั้นได้ใช้ตามสำเนียงปารีส
สุดท้ายนี้ผู้แปลต้องขอขอบคุณเพื่อนรักคือ อาจารย์วรากุล บุณยเกตุ โอเทร่ต์ และอาจารย์อีฟ โอเทร่ต์ สามีชาวฝรั่งเศสของเธอ ที่ช่วยให้คำอธิบายเชิงวัฒนธรรมและการออกเสียงชื่อเฉพาะต่างๆ และขอขอบคุณ คุณมัลลิกา ภคภาสน์วิวัฒน์ ที่ช่วยให้คำอธิบายเกี่ยวกับศัพท์และพิธีกรรมต่างๆ ของแคธอลิค
มนันยา
24 กุมภาพันธ์ 2552
เกี่ยวกับผู้เขียน : กีย์ เดอ โมปัสซังต์
กีย์ เดอ โมปัสซังต์ (1850-1893) เป็นนักเขียนชาวฝรั่งเศส ผู้ได้รับสมญานามว่าเป็นบิดาแห่งเรื่องสั้นโมเดิร์น ซึ่งแปลก แหวกแนวสำหรับยุคนั้น และยังน่าทึ่ง อ่านสนุก วางไม่ลงมาจนถึงทุกวันนี้
กีย์ เดอ โมปัสซังต์ (Guy de Maupassant) เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1850 ที่แคว้น นอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ค่อยมีความสุขนัก บิดาของเขามักจะทุบตีมารดาให้เห็นเป็นประจำ โมปัสซังต์ จึงเกลียดพ่อมาก ตอนหลัง เมื่อพ่อแม่แยกทางกัน โมปัสซังต์จึงอาศัยอยู่กับแม่ในเอเตรอตาต์ เมืองชายฝั่งทะเลของนอร์มังดีจนอายุ 13 ปี
โมปัสซังต์ ชื่นชอบชีวิตแปลกใหม่ เขาหลงใหลกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด ชอบตกปลา ชอบออกเรือหาปลาไปกับชาวประมง ชอบพูดคุยกับชาวบ้านและกลาสีเรือ ที่มักจะมีเรื่องเล่าแปลกๆ มาเล่าให้เขาฟังอยู่เสมอ จนถึงวัยเข้าโรงเรียน โมปัสซังต์ มีโอกาสได้พบกับ กุสตาฟ โฟลแบรต์ (Gustave Flaubert) นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ในยุคนั้นซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของแม่ ผู้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นครูสอนวิชาเขียนหนังสือให้กับโมปัสซังต์ จนทำให้เขากลายเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ มีผลงานอยู่ในใจนักอ่านมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อสงครามฝรั่งเศส-เยอรมัน อุบัติขึ้นหลังจากที่เขาจบจากวิทยาลัยในปี 1870 โมปัสซังต์ เข้าร่วมกองทัพในฐานะอาสาสมัครและทำการต่อสู้กับศัตรูอย่างกล้าหาญ
หลังจากนั้น ในปี 1871 เขาออกจากนอร์มังดี และย้ายไปพำนักอยู่ปารีส ที่ซึ่งเขาใช้เวลานับสิบปีทำงานเป็นเสมียนของกองทัพเรือ ช่วงเวลานั้นการผ่อนคลายของเขามีเพียงอย่างเดียวคือการพายเรือแคนูในแม่น้ำแซนทุกวันอาทิตย์และวันหยุด
ต่อมาเมื่อได้เข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของ กุสตาฟ โฟลแบรต์ ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการวรรณกรรมฝรั่งเศสยุคนั้น โมปัสซังต์ จึงมีโอกาสเข้าสู่สังคมนักคิดนักเขียนเป็นครั้งแรก ที่บ้านของโฟลแบรต์นี่เอง ที่ โมปัสซังต์ มีโอกาสได้พบกับเอมิล โซล่า นักเขียนฝรั่งเศสชื่อดัง และอิวาน ตูร์เกเนฟ นักเขียนรัสเซีย เช่นเดียวกับคนสำคัญอีกหลายๆ คนในสำนักสัจนิยมและธรรมชาตินิยม
ในปี 1878 โมปัสซังต์ ย้ายไปทำงานที่เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ เขาทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ชั้นนำหลายเล่ม อาทิ Le Figaro, Gel Blas, Le Gaulois, I’Echo de Paris เขาใช้เวลาช่วงว่างเพื่อเขียนนิยายและเรื่องสั้น
ในปี 1880 เขาตีพิมพ์ผลงานซึ่งได้รับเลือกให้เป็นมาสเตอร์พีซชิ้นแรก “Boule de Suif” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและมหาศาล Flaubert ระบุว่าผลงานเรื่องสั้นขนาดยาวเรื่องนี้คือ “งานมาสเตอร์พีซที่จะคงอยู่ไปอีกนาน” “Boule de Suif” เป็นผลงานเรื่องสั้นชิ้นแรกของ Maupassant ในระหว่างสงครามฝรั่งเศส-อเมริกัน และตามติดมาด้วยเรื่องสั้นอย่าง “Deux Amis” “Mother Savage” และ “Mademoiselle Fifi” ซึ่งล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จเช่นกัน
ในปี 1881 โมปัสซังต์ ตีพิมพ์รวมเล่มชุดแรกของเขาในชื่อเล่ม La Maison Tellier หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำถึง 12 ครั้งใน 2 ปี จนกระทั่งในปี 1883 โมปัสซังต์ ตีพิมพ์ผลงานนวนิยายเรื่องแรกของเขา ในชื่อเรื่อง Une Vie (A Woman’s Life) ซึ่งขายได้ถึง 25,000 เล่ม ในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ส่วนนิยายเรื่องที่สองของเขา Bel-Ami ออกมาในปี 1885 ก็ประสบความเร็จเช่นเดียวกัน
หลังจากนั้น บรรณาธิการได้ขอให้โมปัสซังต์เขียนผลงานมาสเตอร์พีซ เรื่องใหม่อีกสักเรื่อง และโมปัสซังต์ ก็เริ่มต้นสร้างสรรค์มันออกมาอย่างไม่มีอิดเอื้อนเลยแม้แต่น้อยนิด ในช่วงนี้เอง ที่โมปัสซังต์ สร้างสรรค์งานเขียนออกมาชิ้นหนึ่ง ซึ่งหลายคนเลือกให้เป็นนิยายเรื่องที่ดีที่สุดของเขานั่นก็คือ Pierre et Jean
จากช่วงทศวรรษจาก 1880 - 1891 เป็นช่วงเวลาที่รุ่งเรืองที่สุดในชีวิตของ โมปัสซังต์ สร้างความนิยมจากผู้อ่านจากเรื่องสั้นเรื่องแรกของเขา หลังจากนั้น เขาก็ตั้งใจทำงานอย่างมีระบบระเบียบ สามารถสร้างสรรค์ผลงานรวมเล่มสองชุดหรือบางคราวถึงสี่ชุดต่อปี เขาสั่งสมพรสวรรค์ด้านการเขียนจนช่ำชอง ไปพร้อมๆ กับฝึกฝนเรียนรู้เรื่องธุรกิจ จนทำให้เขาเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงและร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของยุคนั้น
ด้านอุปนิสัยส่วนตัวนั้น ด้วยความที่ปกติเป็นคนไม่ชอบเข้าสังคม รักความสันโดษและความสงบ เขามักเดินทางไปยัง อัลจีเรีย, อิตาลี่, อังกฤษ, บริททานีย์, ซิซิลี่ และ โอแบร์ก จากการเดินทางแต่ละครั้ง ก็จะนำมาซึ่งผลงานรวมเล่มชุดใหม่อยู่เรื่อยๆ เขาเดินไปทางโดยเรือยอร์ชส่วนตัวชื่อ Bel-Ami ซึ่งตั้งชื่อตามนวนิยายของเขาเอง และถึงแม้จะมีชีวิตที่ต้องเดินทางผจญภัยตลอดเวลา แต่โมปัสซังต์ ก็มีเพื่อนพ้องในวงการวรรณกรรมที่สนิทชิดเชื้ออยู่มากมาย อย่างความสัมพันธ์กับนักเขียนชื่อดังอย่าง อเล็กซองดร์ ดูมาร์ ก็รักใคร่ผูกพันกับโมปัสซังต์ ประหนึ่งเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน เช่นเดียวกับตอนที่โมปัสซังต์ได้พบกับฮิบโปลีต แทน นักวิจารณ์และนักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสชื่อดัง เขาก็รู้สึกเหมือนตกอยู่ใต้เวทย์มนต์ของนักปรัชญาและประวัติศาสตร์ผู้นี้ไปเลยทีเดียว
ในบั้นปลายของชีวิต เขาเริ่มโดดเดี่ยวตัวเอง หวาดกลัวความตาย เจ็บปวดและคลุ้มคลั่งทางจิตจากผลของโรคซิฟิลิสซึ่งเขาติดตั้งแต่วัยยี่สิบกว่าๆ เขาเคย พยายามจะฆ่าตัวตายโดยการเชือดคอตัวเอง ก่อนถูกพาไปสถานพักฟื้น ในปารีส จนกระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อที่วันที่ 6 กรกฎาคม 1893 ด้วยวัยเพียงสี่สิบสองปีเศษเท่านั้น เขาจารึกป้ายหลุมศพตัวเองไว้ว่า “ฉันอยากได้ไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างและไม่ได้หลงใหลได้ปลื้มกับอะไรเลย” เขาถูกฝังในช่องที่ 26 ของสุสาน Cimetière du Montparnasse ในกรุงปารีส หลงเหลือไว้เพียงผลงานวรรณกรรมชั้นเลิศจำนวนมากมายและชื่อเสียงที่ขจรขจายไปทั่วโลกอย่างไม่เคยสิ้นสุด
สำหรับเรื่องสั้นทั้ง 12 เรื่องในพ็อคเก็ตบุ๊ค “เงื้อแล้ว…ก็ต้องฟัน” เล่มนี้ เป็นการคัดเลือกเรื่องของ “มนันยา” ผู้แปลทั้งสิ้น โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดสรรค์เป็นการส่วนตัวว่า เป็นเรื่องที่อ่านง่าย อ่านสนุก เหมาะกับผู้อ่านในวงกว้าง ที่จะได้เข้ามาลองลิ้มชิมรสผลงานเขียนของโมปัสซังต์ได้สะดวก จะเปรียบไปแล้วก็เหมือนจานออร์เดิร์ฟเรียกน้ำย่อย ก่อนที่อาหารจานหลักจะเสิร์ฟตามมาในลำดับต่อไป และแน่นอนว่า ผลงานชิ้นเอกของโมปัสซังต์ อย่าง “Boule de Suif” และเรื่องอื่นๆ ที่โลกจารึกไว้แล้วยอดเยี่ยมที่สุดนั้น ทางสำนักพิมพ์ได้ทยอยจัดพิมพ์ตามออกมาด้วยแล้ว โปรดติดตาม
สารบัญ
เงื้อแล้วก็ต้องฟัน
ซิม็องอยากมีพ่อ
ตาเฒ่าจูดาส์
ถูกจับได้
นึกว่าฆ่ากันตาย
ในชนบท
มาดมัวแซลล์ ฟีฟี
เพราะอยากประหยัด
นังโง่
โอ้ว่ากลิ่นดอกเวอร์บีน่า
แล้วก็ได้ประจักษ์ว่ารักลวง
ไก่ขันน้อยๆ ในคืนนั้น
Copyright © 2009 by Freeformbooks, Lomdee Co.,Ltd. All rights reserved.
© สงวนลิขสิทธิ์โดยฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์ ในนามบริษัท ลมดี จำกัด ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของหนังสือเล่มนี้ไปลอกเลียน ทำสำเนา ถ่ายเอกสาร หรือนำไปเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต หรือสื่อชนิดอื่นๆ ไม่ว่าในรูปแบบใด นอกจากจะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น