จดหมายรักยาขอบ
เรื่องรักต้องห้ามแต่สุดโรแมนติกของ “ยาขอบ” นักประพันธ์ชั้นครู ที่เคยสร้างผลงานเขียนเขย่าสังคมไทยให้สะท้านสะเทือนประจำยุคสมัย ฝ่ายชายเป็นนักประพันธ์ใหญ่จอมเจ้าชู้ มีภรรยาอยู่แล้วถึง 4 คน แต่ยังสามารถเขียนจดหมายจีบผู้หญิงที่เพิ่งเริ่มแตกเนื้อสาวและอยากเป็นนักเขียนอย่าง “พนิดา” สาวสวยประจำยุคสมัย “จดหมายรักยาขอบ” เป็นหนังสือหายาก เป็นเรื่องรักคลาสสิคที่ตราตรึงใจนักอ่านมายาวนาน สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม ได้รับอนุญาตจากคุณประกายพฤกษ์ ศรุตานนท์ เจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือยาขอบ ให้นำมาจัดพิมพ์ซ้ำอย่างถูกต้อง ในรูปเล่มใหม่ สวยงาม แต่ไม่ได้จัดจ้านจนเกินไปนัก ด้วยฝีมือศิลปินชื่อดัง “โลเล” ทวีศักดิ์ ศรีทองดี (ราคาปก 225 บาท) คลิกอ่านรายละเอียดทั้งหมด
วัฒน์ วรรลยางกูร : นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2550
“จดหมายรักยาขอบ” เรื่องรักต้องห้ามสุดโรแมนติกของนักประพันธ์ชั้นครูที่เคยเขย่าสังคมไทย ฝ่ายชายจอมเจ้าชู้ มีภรรยาอยู่แล้วถึง 4 คน แต่ยังมีความรัก “อย่างร้อนๆ” อีกครั้งกับสาวสะพรั่งวัยยี่สิบฝน นาม “พนิดา” ที่ใฝ่ฝันว่าจะได้เป็นนักเขียนกับเขาบ้าง
ทั้งสองจึงเปรียบเสมือน “คู่เขียนที่คู่ควร”
ประลองฝีมือเขียนจดหมายถึงกันอย่างสุดจิตสุดใจ
ยาขอบนั้นชอบเขียนจดหมายรักดึกๆ คืนหนึ่ง เขาเขียนบอกพนิดาว่า "คิดถึงอย่างเหลือที่เปรียบได้ หงอยตลอดวันคิดถึงอย่างเดียว แต่ไม่พยายามจะหลับตานึกว่าเวลาเท่านี้ ดากำลังทำอะไรอยู่ กลัวภาพที่ตัววาดขึ้น จะเป็นพิษแก่ความสบายใจเสีย ฉันคิดถึงมากเกินไป จนกลัวว่าจดหมายฉบับนี้จะขาดความสุภาพ "
"ฉันขอส่งความรู้สึกมาจูบดาทั้งหมดทั้งตัว แม้แต่เท้า" บางฉบับก็บอกว่า "ฉันไม่อยากจูบได้จูบแก้มจูบมือของคุณแล้ว แต่อยากจูบที่หัวใจเหลือกำลัง"
“ฉันรักคุณเพราะฉันไม่รักตัวเอง” พนิดาตำหนิตัวเองไม่หาย
“ฉันเป็นคนชั่วช้าที่รักคุณ” ยาขอบบอกไว้เช่นนั้น
“ด้วยเหตุที่เป็นรักล่อแหลม ขัดศีลธรรม อัดอั้นจากสายตาของสังคม อุปสรรคเหล่านี้ทำให้ความรัก ความปรารถนาที่ยาขอบกับพนิดามีต่อกัน จึงหลั่งไหลถ่ายเทท่วมท้นจากก้นบึ้งใจ กลายเป็นตัวหนังสือหวานจับจิต คมกริบหมดจดหมดใจ พลังแห่งความรู้สึกแรงล้น ผู้คนที่ได้อ่านอาจหัวเราะหรือร่ำไห้ …”
จากพ็อกเก็ตบุ๊ค Love Letters จดหมายรัก ’ปราย พันแสง
“จดหมายรักยาขอบ”
รัก"อย่างร้อนๆ"ของยาขอบ แอ้มไม่ได้ เอื้อมไม่ถึง
แต่หวานเจี๊ยบ...บ....บ
*หมายเหตุ "แอ้มไม่ได้ เอื้อมไม่ถึง"
คัดบางส่วนจากพ็อคเก็ตบุ๊ค "จดหมายรัก'ปราย พันแสง"
....
"ขอให้หย่าเมียไวๆ ขอให้ได้แต่งงานกับเด็กสาวเอ๊าะๆ สมใจ "ได้ยินใครบอกใครอย่างนี้
เราคงสงสัยว่าต่อมศีลธรรมในตัวคนพูดคงชำรุดเสียหายเอาการอยู่
...
แต่ถ้าใครเคยได้อ่านหนังสือ"จดหมายรักยาขอบ"อาจต้องคิดใหม่ เพราะตัวคุณเองอาจเป็นคนเอ่ยถ้อยคำล่อแหลมเหล่านี้เสียเอง--เหมือนฉัน
...
ธรรมดาของนักเขียน นักประพันธ์ ถ้าเจอคู่เขียนจดหมายรักตอบโต้ที่คู่ควรแล้ว จดหมายรักของพวกเขามักจะสวยงามบรรเจิดเพริศแพร้ว มีเสน่ห์ชวนอ่านชวนหลงใหล มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ไม่น้อยไปกว่างานเขียนประเภทอื่นเลย
...
ในงานเขียนชื่อ "เรื่องไม่เป็นเรื่อง"ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารปิยมิตรรายสัปดาห์ ยาขอบเขียนไว้ว่า "จดหมายรักมีตั้งปี๊บ จะจุดอารมณ์ให้คุขึ้นด้วยไฟสวาท อ่านเรื่อยมาทีละราย จนมาพบรายที่ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี และเธอเพิ่ง 20 กำลังสะพรั่ง ด้วยแตกเนื้อสาวได้พบยอดรักอีกครั้ง หลังจากสิบปีก่อนที่บังอาจรักผู้หญิงที่แก่กว่าเมื่ออายุ 22.."
....
สาว "เพิ่ง 20" ที่ว่านี้ก็คือ พนิดา ภูมิศิริทัต ส่วนผู้หญิงแก่กว่าที่ยาขอบพูดถึงนั้น ฉันเข้าใจว่าเป็นคนเดียวกับที่ยาขอบเอ่ยถึงในจดหมายรักฉบับหนึ่งของเขาว่า
...
"ทำไมคนแก่ซึ่งได้พบสิ่งที่เรียกว่าความรัก คือมีเมียมาแล้ว ทำไมจึงมีความรู้สึกราวกับเป็นหนุ่มอีก ฉันคิดว่าเป็นเรื่องของคนดัดจริตและทำเป็นฝรั่งเกินไปในเวลานั้น"
.........
"แต่เดี๋ยวนี้ เมื่อมาถึงตัวเองบ้างจึงเข้าใจ ฉันเคยมีเมียมาแล้ว ฉันเคยอยู่กับผู้หญิงที่ฉันรักที่สุดในครั้งหนึ่งคือ "พี่เมีย"
ฉันไม่เคยคิดว่าจะมีความรักอย่างร้อนๆ ในใจฉันอีก เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่าเข้าใจผิด"
...
รักที่สุดคือ "พี่เมีย" นี่นะ-ร้ายไหม
...
จดหมายรักระหว่างนักประพันธ์เอกผู้รุ่งโรจน์ประจำยุคสมัยอย่าง "ยาขอบ" กับนักเรียนการประพันธ์สาวสวยอย่าง "พนิดา" มีสีสันบรรเจิดใจจริงๆ คู่นี้มีความรักในการเขียนหนังสือเหมือนกัน
....
ความรักที่มีต่อกัน ความอ่อนไหว ความละเอียด ละเมียดละไม ต่อความรู้สึกนึกฝันของตน ประกอบความจัดเจนในการ"ถ่ายหัวใจ"ออกมาเป็นตัวอักษร จึงทำให้จดหมายรักระหว่างเขา-เธอเพริดแพร้วพรรณรายเป็นอย่างยิ่ง
....
ฉันอ่าน “จดหมายรักยาขอบ” ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน จำได้ว่า เกือบตายแน่ะ กับถ้อยคำหวานคมในหนังสือเล่นเอาฉันหายใจไม่ออก ต้องออกไปสูดอากาศพักหายใจอยู่หลายหน เมื่ออ่านจบชีวิตฉันก็เปลี่ยนไปด้วยการชงกาแฟไม่เติมน้ำตาลอยู่เป็นเดือนๆ เชียวละคุณ
...
นอกจากได้เจอ "คู่เขียนที่คู่ควร" แล้ว เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้จดหมายรักของยาขอบ-พนิดา รุ่มร้อนเร้าใจน่าติดตามคงจะเป็นเพราะอุปสรรคความรักใหญ่หลวงที่คู่รักคู่นี้ต้องเผชิญเรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า "ใช่ว่าดอกฟ้าทุกดอกจะโน้มกิ่งลงมาให้หมาวัดเด็ดชมสำเร็จทุกรายไปนี่นา"
...
ตอนลุ้นว่าจะเด็ดได้-ไม่ได้นี่แหละ ที่เร้าใจนัก
...
ในจดหมายที่ยาขอบเขียนถึงพนิดา มักจะแฝงความรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยน้อยค่า ขณะที่เห็นว่าฝ่ายหญิงนั้นสูงส่งสุดเอื้อมตลอดเวลา คราวหนึ่ง...ยาขอบถึงขนาดใช้สำนวนว่า "ฉันเป็นคนชั่วช้าที่รักคุณ" กับพนิดาเลยทีเดียว
...
ไม่แน่ใจนักวาเป็นแค่ "สำนวน" เพื่อแสดงความยกย่องฝ่ายหญิงเท่านั้นหรือไร เพราะเท่าที่อ่านเบื้องหน้าเบื้องหลังชีวิตยาขอบในช่วงนี้ ฉันไม่ค่อยรู้สึกว่าเขาเป็น "หมาวัด" เท่าไหร่นัก เนื่องว่ามีเกียรติยศชื่อเสียง มีศักดิ์ศรีของเขาพอตัวอยู่
...
ดังในจดหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งยาขอบวาดฝันถึงอนาคตที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกับพนิดาว่า เขาจะเริ่มออมเงินจากเงินเดือน และเงินจากการเขียนหนังสือ "ผู้ชนะสิบทิศ" เพื่อสร้างเรือนหอ "กระท่อมสัปรังเคหลังหนึ่ง ซึ่งพอจะอยู่ได้อย่างน้อยก็สักปีสองปี จนกว่าจะหาดีๆ อยู่ใหม่"
...
ยาขอบจะตั้งชื่อเรือนหอหลังนี้ติดไว้ตรงทางเข้าบ้านว่า "กระท่อมผู้ชนะ"
...
ยาขอบเขียนบอกพนิดาว่า "คนคงคิดว่า ฉันตั้งชื่อมันจากเรื่องที่ทำเงินให้แก่ฉัน แต่ความจริงไม่ใช่ ฉันหมายถึงเจ้าของกระท่อมนั้นได้ชนะสิ่งหนึ่งซึ่งร้อนอยู่ในดวงใจเขาเอง"
...
ทั้งยังพูดถึงความสำเร็จในงานเขียนตัวเองให้พนิดาฟังในจดหมายอีกฉบับว่า "ฉันคุยได้อย่างไม่กระดากปาก หรือกลัวใครว่าโม้เลย ไม่มีนักเขียนในเมืองไทยที่ถือการเขียนเป็นอาชีพจริงจังจะทำตัวหนังสือให้เป็นเงินได้ในระยะนี้เหมือนฉันเลย"
...
ส่วนอีกฉบับก็บอกว่า "ฉันเขียนหนังสือถึงดา ได้ตัวหนังสือรวดเร็วจนประหลาด เดี๋ยวหน้า เดี๋ยวหน้า ถ้าแต่งเรื่องรวดเร็วอย่างนี้รวยตาย"
...
นั่นแสดงว่ายาขอบประสบความสำเร็จรุ่งโรจน์ในเส้นทางนักเขียนของยุคนั้นแล้ว ชื่อดังออกอย่างนั้น จะต่ำต้อยได้อย่างไร หากจะต่ำต้อยอยู่บ้าง คงเป็นเพราะว่ายามนั้นยาขอบมีภรรยาแล้วมากกว่า
...
ไม่ใช่คนเดียว แต่ภรรยามีอยู่แล้วถึง 4 คน!
...
ไม่ได้เขียนผิด-ไม่ได้นับผิด
...
ตอนจีบพนิดา ยาขอบมีเมียอยู่แล้ว 4 คนจริงๆ
...
พนิดาเองทั้งรู้อยู่เต็มอก แต่ก็มีใจให้หนุ่ม 32 เมีย 4 คนนี้อยู่ดี
เธอเคยฉะอ้อนถามยาขอบว่า "รู้ไหมคะ ทำไมดิฉันจึงรักคุณ"
...
ยาขอบได้ยินคำถามนี้ก็เป็นอึ้งไปเหมือนกัน เขาบอกกับคนอ่านว่า "เราไม่ใช่คนรูปสวยรวยทรัพย์ หาคำตอบไม่พบว่า เหตุไฉนไยเธอจึงมารักเรา จึงตอบอย่างโง่ที่สุด แต่เป็นจริงที่สุดคือไม่ทราบ"
...
พนิดาตอบมาว่า "ถ้างั้นขอให้ทราบ" แล้วเธอก็เอ่ยต่อไปด้วยน้ำเสียงเจือสะอื้นว่า "เมียมีอยู่ด้วยกันเดี๋ยวนี้ถึง 4 คน ยังมาเกี้ยวเขาได้นะใจคอ...ฉันรักคุณเพราะฉันไม่รักตัวเองไงคะ"
...
อ่านคำเธอแล้วอยากกัดลิ้นตัวเองตายคาหนังสือเลยเชียว
...
"ฉันรักคุณเพราะฉันไม่รักตัวเอง"
นี่นะ! เจ็บจริงๆ
...
อันที่จริงเธอคงไม่ได้ใช้สมองคิดหรอก เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของหัวใจล้วนๆ "คนเราเลือกคนที่เราตกหลุมรักไม่ได้นี่นา" แม่นางเอกในหนังเรื่อง The Love Letter ของปีเตอร์ ชาน เคยพูดไว้อย่างนั้น
...
ด้วยเหตุฉะนี้ Love Affair ของยาขอบกับพนิดาจึงต้องหลบๆ ซ่อนๆ เจอหน้ากันก็ต้องซ่อนความในใจ
ไม่สามารถคุยกันหรือควงคู่กันไปไหนอย่างเปิดเผยได้เหมือนคู่รักอื่นๆ
....
จดหมายเกือบทุกฉบับที่ทั้งสองเขียนถึงกัน จึงล้วนเอ่ยอิงถึงอุปสรรครักใหญ่หลวง แถมเป็นปัญหาโลกแตกทั้งสิ้น เรื่องลูกเมียของฝ่ายชายบ้างละ เรื่องสายตาของสังคมที่จับจ้องอยู่บ้างละ
.....
ผู้หญิงสมัยนั้นลองมามีความรักผิดรูปรอยแบบนี้ ทั้งเธอยังเป็นสาวสวยสาวสังคมจ๋าอีกด้วย คงต้องเจอแรงกดดันสาหัสเอาการทีเดียว
...
จดหมายรักของเขา-เธอบางฉบับจึงรันทดท้อห่อเหี่ยว แต่ด้วยแรงรักล้นที่มีต่อกัน บางฉบับจึงฮึดขึ้นมาหวัง หวานๆ ไหวๆ ต่อกันอีกได้
...
คนอ่านน่ะสิ ซวยไป เพราะอ่านๆ ไปใจมันจะขาดเอาให้ได้
...
รักของเขา-เธอผิดศีลธรรมไหม ผู้ที่ได้อ่านทุกคนคงตอบได้พร้อมเพรียงว่าผิดแน่ ยิ่งฝ่ายชายสัญญิงสัญญากับฝ่ายหญิงว่าจะเลิกร้างกับภรรยาเพื่อมาแต่งงานใหม่กับเธอ นั่นก็ยิ่งน่าตกใจ
....
แต่เมื่อเห็นความรักที่ทั้งสองแสดง่อกันในจดหมายเหล่านี้แล้วเชื่อว่าคนอ่านทั้งหลาย คงต้องเอาใจช่วยเชียร์ให้ทั้งคู่ได้สมรักสมหวังในรักนี้ให้ได้
....
ในการเอาใจช่วยเชียร์ จึงอาจจะมีคำพูดชวนตระหนกที่ว่า"ขอให้หย่าเมียไวๆ ขอให้ได้มาแต่งงานกับสาวเอ๊าะๆ" หลุดปะปนออกมาด้วยอย่างช่วยไม่ได้
....
ด้วยเหตุที่เป็นรักล่อแหลมต่อศีลธรรมอันดี ด้วยความอัดอั้นจากสายตาของสังคม คงด้วยอุปสรรคเหล่านี้เองจึงทำให้ความรักความปรารถนาทั้งหมดทั้งมวลที่ยาขอบกับพนิดามีต่อกัน จึงหลั่งไหลถ่ายเทจากก้นบึ้งใจ กลายเป็นตัวหนังสือในจดหมายรักลึกซึ้งจนหมดจดหมดใจ
...
เป็นถ้อยคำของความรู้สึกลึกซึ้ง มีพลังแรงล้น
ขนาดทำให้ผู้คนที่ได้อ่าน
สามารถหัวเราะหรือร่ำไห้ไปกับจดหมาย
ได้อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
คำนิยมหนังสือ “จดหมายรักยาขอบ”
จาก วัฒน์ วรรลยางกูร
ความรักหมายเลข 5
“ไม่เคยเลยในความเป็นมาของฉัน ซึ่งจะเข้ามาหาผู้หญิงด้วยความรู้สึกอ่อนแอ และอยากขอร้องว่า อย่าให้เขาไปจากฉันเหมือนครั้งนี้ ฉันไม่ได้รักคุณด้วยอารมณ์อันเคยเป็นของฉันเอง หากได้รักด้วยอารมณ์ทาส...” สำนวนจดหมายรักจากชีวิตจริงของ ‘ยาขอบ’ หรือโชติ แพร่พันธุ์ เพียงฉบับที่4 ที่ผมได้อ่านยามเช้ามืด ก็ ‘เอาอยู่’ คือสามารถเปลี่ยนความตั้งใจที่จะอ่านอย่างคร่าวๆ มาเป็นอ่านทีละวรรคทีละบรรทัด ราวกับละเลียดเมรัยชั้นดี ที่จะซดกระโชกโฮกฮากไม่ได้
เป็นจดหมายรักกว่า 60 ฉบับระหว่าง ยาขอบ กับหญิงสาวผู้มีลักยิ้มริมแก้มเฉพาะยามแย้มยิ้มหรือจะพูดจา นาม พนิดา ภูมิศิริทัต ในขณะที่ โชติ มีภรรยามาแล้ว 4 คน เขาอยู่ในวัย 32 ปี กำลังมีชื่อเสียงหอมฟุ้ง มีรายได้งดงาม จากเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ที่เริ่มโด่งดังตั้งแต่ยาขอบอายุ 25 ปี เมื่อพ.ศ.2475 (โชติ แพร่พันธุ์ เกิด 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550)
ส่วนพนิดา ภูมิศิริทัต เด็กสาวอายุ 20 ปี เป็นผู้สนใจการประพันธุ์ ซึ่งเทียน เหลียวรักวงศ์ ฝากฝังให้มาฝึกฝนกับยาขอบในฐานะที่ พนิดา เป็นลูกของเพื่อนนายเทียน และยาขอบก็รักใคร่นับถือนายเทียนเป็นเพื่อนรุ่นพี่ที่เคยเที่ยวเฮฮากันมาอย่างคนรู้ใจ
ปรารถนาเบื้องลึกของเทียน เหลียวรักวงศ์ คือเห็นว่ายาขอบใช้ชีวิตเหลวไหลจนไม่ยอมเขียนนิยายผู้ชนะสิบทิศให้จบ ทั้งที่ผู้อ่านเรียกร้องต้องการ นายเทียนจึงอยากให้ยาขอบปรับชีวิตมาเอาใจใส่กับงานเขียน ดังจะเห็นได้ว่าความปรารถนาดีของเพื่อนรุ่นพี่ผู้นี้แฝงอยู่ในจดหมายรักของพนิดา เมื่อเขียนตอบยาขอบโดยแทบตลอด จนเป็นแก่นหลัก (Theme)ของจดหมาย ก็ว่าได้
สันนิษฐานว่า นายเทียน เหลียวรักวงศ์ น่าจะมีส่วนไม่น้อย ต่อการเกิดขึ้นของจดหมายรักนี้ บนพื้นฐานของความปรารถนาดี ส่วนนายเทียนจะมีส่วนจัดสร้าง เสริมสร้างมากน้อยแค่ไหน ก็มิอาจคาดเดา เพราะเมื่อนายเทียนรวบรวมจดหมายมาจัดพิมพ์ ทั้งยาขอบ และ พนิดา ต่างก็ลาโลกไปแล้ว และอย่าลืมว่าในสมัยสี่สิบปีโน้น อะไรๆเกี่ยวกับยาขอบ พิมพ์แล้วขายได้ทั้งนั้น
ที่แน่ๆ สำนวนการเขียนแบบยาขอบ มีลักษณะเฉพาะชัดเจน สัมผัสได้
ดังที่จดหมายรักชุดนี้ได้ตราตรึงเราขณะพินิจอ่าน
ต่อความปรารถนาดีของ เทียน เหลียวรักวงศ์ ยาขอบตอบสนองข้อเรียกร้องนี้ด้วยเหตุผลในแง่มุมของตัวเอง โดยเมื่อพนิดาบอกว่าให้เขาเลิกปล่อยตัวเหลวไหล กลับเป็นคนดี ยาขอบ ตอบพนิดา ว่า “ฉันจะจัดการให้ตัวสะอาด สำหรับความมาเป็นผัวคุณ” ยาขอบพูดทางโทรศัพท์กับพนิดา
ในจดหมายของพนิดา ฉบับที่ 4 เธอเขียนถึงยาขอบว่า“คุณเป็นคนทศนิยมไม่รู้จบสำหรับความรักและคนรัก”
อีกมุมหนึ่งพนิดาตัดพ้อยาขอบ ว่า“ฉันรักคุณเพราะไม่รักตัวเอง เมียมีอยู่ด้วยกันเดี๋ยวนี้ถึงสี่คน ยังมาเกี้ยวเขาได้นะใจคอ”
ยาขอบบวชเมื่อ 5 มิถุนายน พ.ศ.2482 ขณะอายุ 32 ปี และจดหมายรักถึงพนิดาก็เริ่มเขียนระหว่างยาขอบมาอยู่ฝึกขานนาคที่วัด ในระหว่างการไต่เส้นลวดแห่งศีลธรรมนี้ของยาขอบ ระหว่างอ่าน เรากลับไม่รู้สึกถึงกลิ่นคาว หรือถ้อยคำแสลงอารมณ์ความรู้สึก สมกับที่ยาขอบบอกกับพนิดาว่า ฉันเป็นคนบ้าที่สุขุม .!จดหมาย (คลั่งรัก)เต็มไปด้วยความประณีตอ่อนหวาน บางขณะแห่งความหลงใหลราวมึนเมาอารมณ์ แต่ก็กลับสู่สติได้โดยไม่หลงทาง ยาขอบเขียนไว้ในฉบับที่ 10 ว่า
“การเขียนจดหมายเพื่อต้องการแต่การโต้ตอบกันอย่างหวานๆเป็นเรื่องของเด็ก แต่การเขียนเพื่อให้สมกับที่หัวใจปรารถนาจะถ่ายทอดความรู้สึกไปถึงอีกฝ่าย เป็นความรู้สึกของผู้ใหญ่ เมื่อหัวใจปรารถนา หัวใจย่อมทำเอง”
และ
“ฉันเป็นคนใจร้อน 1 แสนขี้เกียจ 1 ฉันจะมานั่งทนขี้เกียจอยู่ได้หรือ ถ้าการเขียนไม่ใช่อาหารของหัวใจฉัน”
ประโยคท้ายนี้ ทำให้นึกถึงบางประโยคในหนังสือชื่อ ‘สินในหมึก’
ยาขอบแนะนำเคล็ดการเริ่มต้นงานประพันธ์ว่า ให้เริ่มต้นจากความรู้สึก เขียนจากการปฏิบัติเข้ามาหาทฤษฎี
ที่สำคัญการเขียน สินในหมึก นี้ ยาขอบใช้เป็นวิธีสอนการประพันธ์แก่ผู้ที่ชื่อว่า “พนิดา” เช่นกัน เขียนเมื่อพ.ศ. 2486 ห่างจากเวลาที่เขียนจดหมายรักนี้ 4 ปี!
ความหมายที่ชัดเจนคือ หากทุกอย่างเป็นความจริง ตรงไปตรงมา ความรักของหนุ่มวัย 32 (เมีย4) กับสาววัย 20 ดำรงต่อเนื่องอย่างน้อย 4 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น
เป็นความรักที่ฝ่ายหญิงบอกว่า รักอย่างเทิดทูนบูชา ถือเขาเป็นหลักชัย และแม้เขาจะบอกว่า ตัวเขาเป็นชายชั่ว ไม่สมควรมาเกลือกกลั้วให้เธอเสื่อมเสีย กระทั่งประสบอุปสรรคหลายด้าน เธอก็ยืนยันว่าเขานั้นเป็น “คนชั่วของคนอื่น คนดีของฉัน”
ความรู้สึกเช่นนี้ของเด็กสาววัย 20 เริ่มต้นจากศรัทธาในสมองเพชรการประพันธ์ที่เขามีอยู่ มิใช่เรื่องรูปสวยรวยทรัพย์
ส่วนในด้านของนักประพันธ์หนุ่มวัย 32 เล่า เขาศิโรราบบอกเธอว่า รักเธอด้วยอารมณ์อย่างทาสเสน่หา
มันเป็นภาวะธรรมดาของผู้ชายเมื่อมีโอกาสหรือ เมื่ออ่านจดหมายกว่า 60 ฉบับแล้ว สัมผัสได้ว่ามิใช่อารมณ์ชั่วครู่ชั่วยามเช่นนั้น
แน่ละ สำหรับศิลปินหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ การได้มีความรักย่อมก่อให้เกิดความกระชุ่มกระชวย ทำนอง ‘จุดแรงบันดาลใจ’ ช่วง ‘อินเลิฟ’ นั้น ช่วยให้มีพลังมหัศจรรย์ สมองและหัวใจที่เคยอ่อนล้าและตื้อตันก็กลับสดใสวิเศษ และการ ‘อินเลิฟ’ นั้นบางทีก็เป็นภาวะที่สุดจะเลือกสรร มันเกิดขึ้นเองโดยไม่ยอมดูตาม้าตาเรือ ว่าจะต้องไต่เส้นลวดแห่งประเพณีศีลธรรมอย่างน่าหวาดเสียวเพียงใด เรื่องพรรค์นี้ไม่เกิดขึ้นกับตัวเองก็ยากจะเข้าใจ และหากเก็บกดเอาไว้ อกก็อึดอัดแทบระเบิด วรรณกรรม ศิลปะนานา จึงเป็นทางออกได้ทางหนึ่ง ช่วยผ่อนเพลาความไม่ลงตัวของชีวิตเช่นนั้นได้
กล่าวเฉพาะสำหรับตัวยาขอบ หรือโชติ แพร่พันธุ์ สัมผัสตัวหนังสือและเรื่องราวประวัติชีวิตของท่านแล้วก็ชวนให้นึกสันนิษฐาน (เดาอย่างมีเหตุผล) ลึกเข้าไปในสภาพจิตใจของท่าน
ยาขอบเป็นนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล การที่คนเขียนหนังสือรุ่นหลัง (ลูกหลานเหลน) อย่างผม จะอาจเอื้อมแตะเข้าไปในตัวตนของท่าน ก็ต้องขอไหว้ครูคารวะดวงวิญญาณที่ล่วงลับ ว่าผม-ลูกหลานทำไปด้วยความเคารพในตัวหนังสือของท่าน
โชติ แพร่พันธุ์ เสียชีวิตเมื่อ 5 เมษายน พ.ศ. 2499 อายุ 48 ปีเศษ ด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน และวัณโรค โดยเริ่มป่วยตั้งแต่ก่อนปี 2492
น่าคิด น่าเดาว่า การตายของยาขอบมีอะไรเกี่ยวเนื่องกับกรณี พนิดา ภูมิศิริทัต ไหม เพราะเป็นที่รู้กันว่า ยาขอบคบหากับพนิดาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ 2482-2486 (หรือกว่านั้น) โดยเขาได้แต่นอนกอดเธออยู่ในความคิดความฝันเท่านั้น (ตามข้อความในจดหมาย...)
ภรรยาคนที่ 4 คือประกายศรี หรือ ‘คุณศรี’ นั้น อยู่กับยาขอบจนถึงวาระสุดท้าย
หลังจากยาขอบตายไป 5-6 ปี พนิดาก็จบชีวิตลงเช่นกันในวัยราวๆ 40 ปีเศษ ก็ชวนให้คิดให้เดาต่อ นี่คือจินตนาการต่อเนื่องหลังอ่านจดหมายรักยาขอบ
เป็นจินตนาการที่ยังไม่แน่ใจนัก เพราะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ พนิดา ภูมิศิริทัต
จากข้อเขียนของเพื่อนฝูงของยาขอบหลายคนในหนังสือยาขอบอนุสรณ์ บอกให้รู้ว่า ยาขอบมีภรรยาแบบไม่เป็นตัวเป็นตนนั้น ‘นับสิบ’ ส่วนที่อยู่กันเปิดเผยต่อเนื่องนานปี มี 4 คน คือ
1.จรัส
“คนแรกให้ลูกชายคนเดียว (มานะ แพร่พันธุ์) คนที่สองให้จดหมายรักสีชมพูหอบใหญ่ และเป็นที่มาของผู้ชนะสิบทิศ คนที่สามเป็นผู้อ่านที่คลั่งไคล้ผู้ชนะสิบทิศ กำลังเรียนอยู่ปีนัง ตะละแม่ผู้นี้ลงทุนขับรถยนต์ข้ามแดนมาซื้อประชาชาติ ซึ่งลงพิมพ์ผู้ชนะสิบทิศ ที่หาดใหญ่ทุกวันอาทิตย์ ร่วมชีวิตอยู่ 5 ปี คนที่ 4 รักษาพยาบาลในยามที่ยาขอบเจ็บไข้กระทั่งสิ้นสังขาร”
ไม่ว่าอ่านจดหมายรัก อ่านนิยายผู้ชนะสิบทิศ ทาบเรื่องแต่งลงกับชีวิตจริงด้านรักๆใคร่ๆ ทุกอย่างลงเอยสอดคล้องว่า พญาอินทรีแห่งคัคนานต์การประพันธ์ผู้นี้ มากด้วยพลังรัก เป็นแม่เหล็กที่แผ่แรงดึงดูดแห่งความรักได้อย่างมากมายเหลือคณา ทั้งที่เขามิใช่คนรูปงาม หรือร่ำรวยโก้หรูด้วยเกียรติยศอย่างทั่วๆไป
นอกจากเป็นนักประพันธ์ฝีมือดี ฝีปากเยี่ยมยอดยากหาใครเทียม อีกเหตุผลที่น่าคิดน่าสันนิษฐานคือ พลังรักของเขาน่าจะมีเหตุเนื่องมาจากช่วงวัยเด็กที่ไร้ความสุข
ปู่ของยาขอบ คือเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่ เมื่อเกิดกบฏเงี้ยวในพ.ศ. 2445 ข้าหลวงจากบางกอกถูกพวกกบฏฆ่าตาย โดยเจ้าหลวงเมืองแพร่ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นใจกับพวกกบฏ เจ้าหลวงต้องหนีไปอยู่หลวงพระบาง ทางการบางกอกจึงนำตัวเจ้าอินแปง บุตรของเจ้าหลวงมาเลี้ยงที่บางกอก
เจ้าอินแปงได้กับแม่จ้อยคนใช้ในวังของกรมพระยาดำรงฯ จนเกิดบุตรชายคือโชติ หรือยาขอบ ต่อมาเจ้าอินแปงกลับขึ้นไปดูแลเมืองแพร่ และแต่งงานกับลูกเจ้าหลวงเมืองน่าน แม่จ้อยแค้นใจและตรอมใจ
ก่อนตายได้สั่งลูกชายไม่ให้ไปพึ่งญาติของบิดา เด็กชายโชติจึงใช้ชีวิตลำบากลำบนระหกระเหินตั้งแต่วัยเด็กที่เป็นกำพร้า ต้องเร่ร่อนอาศัยอยู่รับใช้ตามบ้านขุนนางและที่ต่างๆ ด้วยภาวะจิตใจหงอยเหงาว้าเหว่
นี่คือประวัติชีวิตของยาขอบ อันชวนให้เดาไปเมื่อได้อ่านเรื่องราวของตัวละครในนิยาย หรืออ่านจดหมายรักในชีวิตจริงของยาขอบ
นิยายขนาดยาว 8 เล่ม (ไม่จบ) รวม 5120 หน้า ผู้ชนะสิบทิศ จะเด็ดชนะใจหญิงสาวได้ถึง 11 นาง แต่ที่ได้สมรสสมรักอยู่ร่วมหอลงโรงกัน เมื่อจะเด็ดได้เป็นยอดขุนพลบุเรงนองแล้วนั้นมี 6 นาง คือ
1.ตะละแม่จันทรา พระพี่นางแห่งตองอู
2. ตะละแม่กุสุมา พระธิดาเมืองแปร
3. ตองสา ต้นห้องของจันทราที่มีบุญคุณคอยช่วยเหลือเวลาจะเด็ดจะลอบพบจันทรา
4. อเทตยา ลูกพี่ลูกน้องของกุสุมา
5. เชงสอบู ลูกสาวจ่าบ้านที่รักจะเด็ด คอยช่วยเหลือแม้ในยามจะเด็ดตามไปชิงตัวกุสุมาจากสอพินยา
6. มินบู ภริยาม่ายของเจ้าเมืองเมาะตะมะ
ไม่ว่าในชีวิตจริงของยาขอบ หรือชีวิตในนิยายของจะเด็ด ต่างก็เน้นย้ำรักเทิดทูนให้เกียรติผู้หญิง หลายครั้งเปรียบเทียบการรักแม่ เน้นการเอาชนะใจ เน้นความสัมพันธ์ในทางมโนกรรม และวจีกรรม
ส่วนในทางกายกรรม ยาขอบประณีตพิถีพิถันดูความเหมาะควรประดามี กระทำสม่ำเสมออย่างสุภาพบุรุษ
ที่สำคัญความรักของจะเด็ดคือคติ “รักแท้ที่ไม่ถือราคี” ไม่ตั้งแง่ว่าเธอจะเคยเป็นของใครมาก่อน ตะละแม่ของจะเด็ด 3 ใน 6 จึงมิใช่หญิงพรหมจารี คือ ตะละแม่กุสุมา (ถูกสอพินยาทำอุบายวางยาสลบข่มขืน) ตองสา (มีลูกด้วย) และมินบู (แม่ม่าย)
ไม่ว่าในจดหมายรัก หรือในนิยาย ยาขอบจึงมักจะเน้นวรรคทองของเขาว่า
“เป็นความผิดของดอกไม้หรือ ที่ถูกแมลงภู่ตอม”
เหตุนี้เองพระเอกที่ดูเหมือนเป็นจอมเจ้าชู้อย่างจะเด็ดแห่งผู้ชนะสิบทิศ ดูเผินๆน่าจะเป็นที่รังเกียจของบรรดาสุภาพสตรี แต่เมื่อได้สัมผัสเบื้องลึกตัวละครนี้ ผู้อ่านสตรีก็มักมีอันใจอ่อนเคลิ้มคล้อยไปกับมนตราจากปลายปากาแห่งพลังรักของยาขอบ – โชติ แพร่พันธุ์ เข้าจนได้
ส่วนนักอ่านเพศบุรุษนั้นยิ่งไม่มีแง่ปัญหาใดเลย
เมื่อยังเด็กผมอ่านสำนวนประพันธ์ของ ยาขอบ แล้วขอสารภาพว่าง่วงนอน แต่ถึงวันนี้ ได้มองเห็นอีกมิติที่มีอะไรให้เรียนรู้จนเก็บไม่หมดได้ในข้อเขียนสั้นๆนี้ ขอให้ท่านผุ้อ่านเพลิเพลินกับจดหมายรักของนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่กับเด็กสาวผู้มีหัวใจอาทรต่อโลกวรรณศิลป์
ละเลียดอ่านอย่างมีความสุขเถิด
ย้ำถึงความตายของยาขอบ ในวัย 48 ปีเศษ ที่ผมชักสงสัยว่าจะเกี่ยวกับจดหมายรักและผู้หญิงชื่อพนิดานี้
โดยพื้นฐานวัยหนุ่ม ยาขอบ เป็นคนประเปรียวแข็งแรง เคยเป็นจ๊อกกี้ขี่ม้าในสนามอาชีพมาแล้ว สมัยวัย 24-25 ปี ยาขอบดื่มไม่เป็น ดังที่ ศรีบูรพา เพื่อนร่วมกลุ่มสุภาพบุรุษที่อายุแก่กว่ายาขอบ 2 ปี ทั้งเป็นศิษย์เทพศิรินทร์ด้วยกัน เล่าว่า เมื่อตนดื่มจนแฮงก์ในวันรุ่งขึ้น เขียนนิยายอิงพงศาวดารมอญ ตอนต่อไม่ไหว จำต้องกะเกณฑ์ให้ยาขอบบรรเลงแทน แต่เพียงสิบกว่าปีผ่านไป ขณะศรีบูรพาเพลาการดื่มลง ยาขอบกลับพลิกไปเป็นนักดื่มหัวราน้ำ ดื่มจนตาย เพราะเหตุใด
ปกตินิสัยสันดานของยาขอบเป็นเสรีชน ปราดเปรียวดังไก่ป่า ทำแต่ในสิ่งที่ใจมุ่งมาดปรารถนา และเมื่อต้องการสิ่งใด หากมีอุปสรรค ก็จะมีอุบายแยบยลเพื่อบรรลุจุดประสงค์ตามต้องการ
ในโลกของเรื่องแต่ง จะเด็ดสามารถชนะใจตะละแม่สิบเอ็ดนาง แบบชนะสิบเอ็ดทิศ ขนาดว่า จะเด็ดสามารถวางอุบาย บีบรัดสถานการณ์ให้ตะละแม่จันทรา ผู้เป็นหมายเลข 1 ยอมรับตะละแม่กุสุมา ผู้เป็นหมายเลข 2 ให้มาร่วมชายคาหัวใจ ถึงขั้นจันทรายอมให้จะเด็ด ในฐานะบุเรงนอง ขุนศึกแห่งตองอู จัดพิธีอภิเษกสมรส โดยทั้งจันทราและกุสุมา ขึ้นเป็นเจ้าสาวในคราวเดียวกัน
การวางโครงเรื่องพิสดารขนาดนี้ คนอ่านส่วนหนึ่งเคลิบเคลิ้ม แต่คนอ่านหัวสมัยใหม่ยุคนั้นที่เคร่งครัดในสิทธิสตรี คือพระธิดาองค์หนึ่งของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯที่ได้รับการศึกษาอย่างสมัยใหม่ทรงมิอาจรับเรื่องราวขนาดจะให้กุสุมาเข้าวิวาห์พร้อมจันทราได้ จนต้องมาขอร้องให้ยาขอบ เปลี่ยนเรื่องก่อนจะถึงฉากวิวาห์พิสดารนั้น
อย่างมากคือยอมให้จะเด็ดมี 6 ตะละแม่อยู่ร่วมชายคาโดยเปิดเผย
อ่านตำนานชีวิตรักโลดโผนของยาขอบ เขา “รักเล่น” มานักต่อนัก เล่ากันว่า เขาคุ้นเคยกับนักการเมืองระดับรัฐมนตรี คือนายเลียง ไชยกาล นายเลียงสร้างภาพยนตร์ โดยให้ ยาขอบ สร้างเรื่องและกำกับการแสดง ไปถ่ายทำกันที่เขมร แต่ไม่ทันไร ยอดผู้กำกับฯใหม่ก็เชิดตัวนางเอกใหม่หายไปจนต้องเลิกล้มการถ่ายทำ
รักเล่นๆนั้นแปลก มักไม่ข้องขัด ไม่เกิดโศกนาฎกรรม แต่หากเกิดเอาจริง รักจริง ขึ้นมาเมื่อไร อุปสรรคหนักหนาสาหัสก็มักประเดประดังเข้ามา
รักจริงในโลกของความจริง อ่านจากจดหมายรักยาขอบ เขาหมายมั่นให้ พนิดา เป็นยอดรักหมายเลข 5 อย่างหมดจด คิดไปกระทั่งตั้งชื่อลูก ขณะที่โดนโอบล้อมปิดกั้นขัดขวาง ทั้งจากสองเมียก่อน และจากญาติพี่น้อง บิดามารดาจองพนิดา กับทั้งเพื่อนฝูงบางคน
จิตวิญญาณอันเป็นเสมือนไก่ป่าปราดเปรียวของยาขอบย่อมดิ้นทุรนทุราย แม้จะใช้อุบายนานา แต่โลกจริงไม่เหมือนโลกนิยาย ในโลกนิยาย นักประพันธ์คือพระเจ้ากำหนดบทบาทตัวละครได้ แต่ในโลกจริง บทบาทแต่ละคนเป็นไปตามเงื่อนไขแวดล้อมสารพัน จิตวิญญาณไก่ป่าของยาขอบจึงเหมือนติดบ่วงรัก มิอาจโลดแล่นอิสระตามใจตน และเมื่อถูกกักขัง ขนาดว่านั่งทำงานใกล้กันยังแสดงความรักต่อกันมิได้ (อ่านในจดหมาย) ไก่ป่าย่อมระเบิดอารมณ์วิ่งชนกำแพงที่คุมขัง อาจเป็นกำแพงประเพณี กำแพงรักของภรรยาเดิม กำแพงห่วงใยของเพื่อน ฯลฯ
การดื่มอย่างเอาเป็นเอาตายของยาขอบเมื่อไม่สมหวังยามคลั่งรัก ก็ดุจเดียวกับเสรีชนไก่ป่าวิ่งชนกรงขัง ปังแล้วปังเล่า..จนหน้าแตกเลือดอาบ และจน(ตรอมใจ)ตาย
จดหมายรักยาขอบ เขียนขึ้นในช่วงเริ่มต้นของการติดบ่วงรัก เรื่องราวยังหอมหวาน เปี่ยมอารมณ์เพ้อฝัน แต่ก็มากด้วยอุปสรรคอันเป็นเสมือนพายุตั้งเค้าทะมึนมา
และถึงอย่างไร เคร่งเครียดแค่ไหน ‘ยาขอบ’ เป็นคนที่ปรารถนาสร้างความสุขแก่ผู้คนเสมอ
จดหมายรักยาขอบ
ประกายพฤกษ์ ศรุตานนท์ เจ้าของลิขสิทธิ์
สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม จัดพิมพ์ซ้ำโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ถูกต้อง Copyright © 2009 by Freeformbooks, Lomdee Co.,Ltd. All rights reserved.
© สงวนลิขสิทธิ์โดยฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์ ในนามบริษัท ลมดี จำกัด ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของหนังสือเล่มนี้ไปลอกเลียน ทำสำเนา ถ่ายเอกสาร หรือนำไปเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต หรือสื่อชนิดอื่นๆ ไม่ว่าในรูปแบบใด นอกจากจะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น