ไมเคิล เฟลป์ส เบื้องลับฮีโร่
ในการพลิกชีวิต(ติดลบ)สู่ความเป็นเลิศ
ไมเคิล เฟลป์ส
แชมป์ 14 เหรียญทองโอลิมปิกปักกิ่ง
เรื่องจริงที่โลกไม่เคยรู้ในเกมชีวิตสุดทึ่ง!
กฤติยา รามโกมุท,นพดล เวชสวัสดิ์ : แปล
[ราคาปก 210 บาท]
จาก “เด็กพิเศษ” สมาธิสั้น ปัญหาเพียบ จากครอบครัวหย่าร้าง ไมเคิล เฟลป์ส พลิกชีวิตติดลบเป็นซูเปอร์เปอร์สตาร์ ฮีโร่นักว่ายน้ำขวัญใจชาวอเมริกัน ทุบสถิติ 8 เหรียญทองอันเหลือเชื่อ จากการแข่งขันโอลิมปิกปักกิ่งในปี 2008 อย่างหมดจดสง่างาม
ตอนอายุ 15 ปี ไมเคิล เฟลป์ส เปิดตัวครั้งแรกในโอลิมปิคซิดนีย์ 2000 โดยเข้าเส้นชัยเป็นที่ 5 ไม่มีเหรียญติดมือกลับบ้านแม้แต่เหรียญเดียว อีกสี่ปีถัดมา โอลิมปิคที่เอเธนส์ 2004 เฟลป์ส์กลับพลิกโลก สร้างปรากฏการณ์เหลือเชื่อ ด้วยการคว้า 6 เหรียญทองและ 2 เหรียญทองแดง ในโอลิมปิคที่ปักกิ่ง 2008 ไมเคิล เฟลป์ส ทำลายสถิติตัวเองโดยการคว้าชัยมาได้มากถึง 8 เหรียญทอง อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง
ไมเคิล เฟลป์ส์ : เบื้องลับฮีโร่ เปิดเผยทุกรายละเอียดในชีวิตแบบเจาะลึก บันทึกทุกสถิติการแข่งขัน ครบครันด้วยภาพถ่ายที่ไม่เคยเปิดเผยจำนวนมาก วิธีเลี้ยงดูเด็กพิเศษด้วยวิธีการสุดวิเศษ รวมทั้งบทวิเคราะห์เจาะลึกค้นหาคำตอบ ว่าทำไมคนที่มีชีวิตติดลบอย่างเฟลป์ส จึงพุ่งสู่ความรุ่งโรจน์ ประสบความสำเร็จได้ถึงเพียงนี้
นี่คือหนังสือที่ทุกครอบครัวควรจะได้อ่าน
รวมทั้งทุกคนที่อยากรู้เบื้องหลังตำนานมีลมหายใจ--- ไมเคิล เฟลป์ส
ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของไมเคิล เฟลป์ส...แปดเหรียญทองในโอลิมปิกเดียว...สั่นสะเทือนวงการกีฬา ความสำเร็จที่ทั่วโลกต้องตะลึง ในความสามารถเหนือชั้น ดั่งเป็นยอดคนเหนือคน
บวกรวมกับเหรียญทอง 6 เหรียญในโอลิมปิก2004เอเธนส์ ไมเคิล เฟลป์ส เป็นราชาเหรียญทองโอลิมปิก บัลลังก์ที่จะไม่มีใครช่วงชิงได้อีกแล้วในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ(เหลือเพียงสถิติเหรียญรวม 16 เหรียญที่ยังเป็นรอง ลาริสสา ลาตินนียา นักยิมนาสติกรัสเซีย 18 เหรียญ เพียงรายการเดียว)
กระนั้น หลังคว้าฝัน มีชัยเยี่ยงวีรบุรุษ สิ่งที่เฟลป์สขอบคุณไม่ใช่ “ความเก่งฉกาจ” ของตน หากเป็น “เพื่อนร่วมทีม” ที่ทำให้เขาถึงฝั่งฝัน ด้วยชัยชนะจากสามรายการผลัด กุญแจสู่ความสำเร็จ นอกเหนือความอุตสาหะพากเพียร คือการทำงานเป็นทีม รวมพลังมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน
ความพยายามนำพาสู่ความสำเร็จ แต่เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อุปสรรคขวากหนามมากมายรออยู่ระหว่างทาง หากสิ้นหวังท้อแท้ ปิดประตูลั่นดาล ความฝันคงพังทลาย แต่หากข้ามผ่านด่านนั้น จะรับสัมผัสหอมหวาน ดื่มด่ำในความสำเร็จ...เป็นสัจธรรมหนึ่งของชีวิต ที่พบได้ทั้งบนบกและในน้ำ
กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด เส้นทางสู่ดวงดาวของเฟลป์สทอดยาวดุจกัน ความรักในสิ่งที่ทำ และมุ่งมั่นทำในสิ่งที่รัก บวกกำลังใจและการสนับสนุนจากครอบครัว เป็นแรงขับให้เขามุ่งหน้า คว้าฝันได้สำเร็จ
ดั่งตัวละครในหนังสือเล่มนี้พูดว่าการว่ายน้ำทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ชีวิต...หากคุณมุ่งหวังสิ่งใด ไม่มีใครหยิบยื่นใส่มือ ต้องไขว่คว้าหาเอง...หวังว่าผู้อ่านจะได้เรียนรู้ชีวิตผ่านประสบการณ์ของนักว่ายน้ำเหล่านี้เช่นกัน
ทำไมจึงเขียนหนังสือเล่มนี้?
บ็อบ: ผมต้องการเสนอสองสิ่ง หนึ่งคือมอบของที่ระลึกแก่เหล่าแฟนกีฬา ให้ทุกคนได้รำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของโอลิมปิก และช่วงเวลาประวัติศาสตร์ – 36 ปีให้หลังที่มาร์ก สปิตซ์เป็นสัญลักษณ์กีฬาโอลิมปิก พิสูจน์ชัดว่าวีรบุรุษเยี่ยงนี้มีบทบาทต่อวัฒนธรรมป๊อปของเรา ผมจึงหวังให้หนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งสะสมเลอค่าของแฟนๆ และเป็นปูมสถิติที่ไร้อคติ – แม้ผมจะเชียร์ขาดใจ...ไม่ต่างจากทุกคน...ในการแข่งว่ายผลัด และผีเสื้อ 100 เมตร ประการที่สอง เพื่อรับประกันว่าหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงผู้คนมากหน้า ที่ช่วยให้ไมเคิลถึงฝั่งฝันในปักกิ่งเกมส์ 2008 เพื่อนร่วมทีมผลัดอย่าง เจสัน เลแซ็ก, เบน ไวล์ดแมน-ทอบริเนอร์, แอรอน แพร์โซล,เบรนแดน แฮนเส็น, แกเร็ตต์ เวเบอร์-เกล และคนอื่นๆ ตลอดจนผู้ที่สร้างผลงานไว้ในรอบคัดเลือก ไมเคิลคว้าห้าเหรียญทองจากการว่ายเดี่ยว แต่เพื่อนร่วมทีมผลัดมีส่วนช่วยให้เขาได้อีกสามเหรียญไปครอง
คุณเขียนหนังสือเล่มนี้อย่างไร?
บ็อบ: ผมสัมภาษณ์นักว่ายน้ำทีมโอลิมปิกและทีมชิงแชมป์โลกไม่ต่ำกว่าร้อยครั้ง เขียนเรื่องไมเคิลหลายพันคำ และเขียนถึงบุคคลอื่น รวมทั้งโค้ชบ็อบ โบว์มัน เป็นหมื่นๆ คำ ขณะที่ผมเป็นนักเขียนอิสระให้กับคอลัมน์ “20 Question Tuesday” ในเวบไซต์ของสมาคมว่ายน้ำอเมริกา
เล่มนี้พิเศษอย่างไร?
บ็อบ: หนังสือเล่มนี้มีเรื่องดึงดูดใจอยู่บ้าง – ข้อมือเขาแตกได้อย่างไร, ความผิดปกติในการกินของพี่สาวเขา และเรื่องอื่นๆ ผนวกรวมเข้าด้วยกัน เล่มนี้เผยมุมบวก 99 เปอร์เซ็นต์ – มีเนื้อความกว่า 50,000 คำ ใช้ถ้อยคำเชิงลบไม่ถึง 450 คำ จึงกล่าวได้ว่าเป็นบวกกว่า 99 เปอร์เซ็นต์...ด้วยความสัตย์จริง – หนังสือที่ซื่อตรงเต็มร้อย สำคัญยิ่งกว่าหนังสือที่อัดแน่นด้วยคำสรรเสริญเชิดชูล้วนๆ แม้ไมเคิลจะสร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ก็เถอะ สื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบันมีด้านมืด...ยกผู้คนสูงส่ง ละเลยความจริง อีกมุมหนึ่งคือการให้ร้ายป้ายสีผ่านบล็อกและกระดานสนทนา ไร้ข้อเท็จจริงหนุน โดย “สื่อขาลุย” ซึ่งแฝงเจตจำนง หรือเพียงแค่จิตใจสกปรก คุณควรเปิดรับข้อมูลทุกแง่มุม แล้วนำเสนอให้ผู้คนเห็นเต็มภาพ ผมชื่นชอบไมเคิลมาก เขาจิตใจดีและอ่อนโยน แต่ผมไม่รู้ว่าการจับไมเคิลมาเขียนเรื่องตัวเองจะเข้าท่าหรือไม่ เขาเป็นยอดคน มนุษยธรรมสูงส่ง เพียรให้สัมภาษณ์ผ่าน NBC ว่าเขา “พูดไม่ออก” เมื่อกลายเป็นคำเหมาะเหม็งจั่วหัวข่าว สื่อสิ่งพิมพ์ต่างเกาหัวแกรก หลายรายเติมคำในช่องว่าง ใส่สิ่งที่ตนคิดว่าไมเคิลรู้สึกลงไป...ช่างน่าเสียดายนัก หนังสือประเภทบุคคลรายแรก ไม่อาจจับความคิดเห็นของไมเคิลได้ถนัดนัก เขาเป็นคนคิดลุ่มลึกเกินหยั่งถึง และไม่อาจเผยความนัยได้แจ่มชัด...บุรุษหัวใจทองคำ และเป็นนักกีฬาที่มีจิตใจงดงามอย่างแท้จริง แต่หลังจากที่ผมเขียนประวัติบุคคลแรกไปกว่า 20 ชีวิต ผมรู้ว่าหากผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับเขา คงเป็นงานหิน แม้เขาเป็นคนดีเยี่ยมก็ตาม ไมเคิลคุยฟุ้งเรื่องว่ายน้ำได้ไม่รู้จบ โดยเฉพาะด้านเทคนิค เพียงแต่ผมไม่คิดว่าจะได้ประโยชน์มากนักหากเราทำหนังสือร่วมกัน
คุณเขียนหนังสือมาแล้วกี่เล่ม?
บ็อบ: กว่า 30 เล่ม ผมเป็นนักเขียนร่วม เขียนหนังสือประเภทบุคคลรายแรก อย่างควอเตอร์แบ็คแอฟริกัน-อเมริกัน ใน NFL ติดยางอมแงม, เงือกสาวปีหนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม วัย 18 ปี รอดชีวิตจากอุบัติเหตุรถบัส ซึ่งคร่าชีวิตเพื่อนร่วมทีมไปสองคน และอดีตผู้เล่นหูหนวกแห่งทีมเดนเวอร์ บรองโกส์ เป็นต้น เปิดโอกาสให้ทุกตัวละครสำคัญได้บอกเล่าเรื่องราวพิเศษ มิใช่แค่เพียงมุมมองด้านเดียว ว่ากันตามตรง มีข้อมูลส่วนตัวของผู้ร่วมทีม ที่ตัวไมเคิลเองอาจยังไม่ทราบ – กระทั่งได้อ่านหนังสือเล่มนี้ – เรื่องราวน่าทึ่งเจือเสียงหัวเราะ เผยบริบทและทัศนะซึ่งอาจหลุดประเด็นไป ผมหวังว่าเขาคงชอบ บี.เจ. เบดฟอร์ด-มิลเลอร์ บรรณาธิการเล่ม ร่วมทีมโอลิมปิกกับเฟลป์สในปี 2000 เธอคิดว่าหนังสือนี้มีเนื้อหาเข้มข้น เป็นเรื่องเล่ากีฬายิ่งใหญ่แห่งยุค เธอยังช่วยไขด้านเทคนิคของกีฬาว่ายน้ำให้กระจ่าง อย่างความหมายของ “taper” ช่วยให้หนังสืออ่านง่าย เหมาะกับผู้อ่านทั้งเงือกสาวฉลามหนุ่ม และคนสามัญเดินดิน
โอลิมปิกเกมส์ ปี 2000
ซิดนีย์, ออสเตรเลีย
รายการ / ผลการแข่งขัน
ผีเสื้อ 200 เมตร / ที่ 5
การแข่งขันชิงแชมป์โลก ปี 2001
ฟุกุโอกะ, ญี่ปุ่น
รายการ / ผลการแข่งขัน
ผีเสื้อ 200 เมตร / เหรียญทอง
การแข่งขันชิงแชมป์โลก ปี 2003
บาเซโลนา, สเปน
รายการ / ผลการแข่งขัน
ผีเสื้อ 100 เมตร / เหรียญเงิน
ผีเสื้อ 200 เมตร / เหรียญทอง
เดี่ยวผสม 200 เมตร / เหรียญทอง
เดี่ยวผสม 400 เมตร / เหรียญทอง
โอลิมปิกเกมส์ ปี 2004
เอเธนส์, กรีซ
รายการ / ผลการแข่งขัน
เดี่ยวผสม 400 เมตร / เหรียญทอง
ผีเสื้อ 100 เมตร / เหรียญทอง
ฟรีสไตล์ 200 เมตร / เหรียญทองแดง
ผีเสื้อ 200 เมตร / เหรียญทอง
เดี่ยวผสม 200 เมตร / เหรียญทอง
ผลัดฟรีสไตล์ 4 x 100 เมตร / เหรียญทองแดง
ผลัดฟรีสไตล์ 4 x 200 เมตร / เหรียญทอง
ผลัดผสม 4 x 100 เมตร / เหรียญทอง
การแข่งขันชิงแชมป์โลก ปี 2005
มอนทรีออล, แคนาดา
รายการ / ผลการแข่งขัน
เดี่ยวผสม 200 เมตร / เหรียญทอง
ผลัดฟรีสไตล์ 4 x 100 เมตร / เหรียญทอง
ฟรีสไตล์ 200 เมตร / เหรียญทอง
ผลัดฟรีสไตล์ 4 x 200 เมตร / เหรียญทอง
ผีเสื้อ 100 เมตร / เหรียญเงิน
ผลัดผสม 4 x 100 เมตร / เหรียญทอง
การแข่งขันชิงแชมป์โลก ปี 2007
เมลเบิร์น, ออสเตรเลีย
รายการ / ผลการแข่งขัน
ฟรีสไตล์ 200 เมตร / เหรียญทอง
ผีเสื้อ 100 เมตร / เหรียญทอง
ผีเสื้อ 200 เมตร / เหรียญทอง
เดี่ยวผสม 200 เมตร / เหรียญทอง
เดี่ยวผสม 400 เมตร / เหรียญทอง
ผลัดฟรีสไตล์ 4 x 100 เมตร / เหรียญทอง
ผลัดฟรีสไตล์ 4 x 200 เมตร / เหรียญทอง
ผลัดผสม 4 x 100 เมตร / ถูกตัดสิทธิ์ในรอบคัดเลือก
โอลิมปิกเกมส์ ปี 2008
ปักกิ่ง, จีน
รายการ / ผลการแข่งขัน
เดี่ยวผสม 400 เมตร / เหรียญทอง
ผลัดฟรีสไตล์ 4 x 100 เมตร / เหรียญทอง
ฟรีสไตล์ 200 เมตร / เหรียญทอง
ผีเสื้อ 200 เมตร / เหรียญทอง, สถิติโลก (สงสัยว่าทำไมเค้าใส่ “สถิติโลก” แค่รายการเดียวค่ะ
เพราะไมเคิลทำลายสถิติโลกทั้งหมด 7 รายการในการแข่งครั้งนี้)
ผลัดฟรีสไตล์ 4 x 200 เมตร / เหรียญทอง
เดี่ยวผสม 200 เมตร / เหรียญทอง
ผีเสื้อ 100 เมตร / เหรียญทอง
ผลัดผสม 4 x 100 เมตร / เหรียญทอง
30 มิถุนายน :
ไมเคิล เฟลป์ส เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1985
วันสำคัญในห้วงประวัติศาสตร์ 30 มิถุนายน 1559 กษัตริย์อองรีที่สอง แห่งฝรั่งเศส ได้รับบาดเจ็บในการประลองทวน
เมื่อกล่าวถึงการแตะผนัง ให้นึกถึงข่าวใหญ่เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1859 ซึ่งชาร์ลส์ บลองแด็ง นักกายกรรมชาวฝรั่งเศส ไต่ลวดข้ามน้ำตกไนแอการา
30 มิถุนายน 1905 วงการวิทยาศาสตร์สะเทือน เมื่อแอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เสนอ “สัมพัทธภาพพิเศษ” ให้โลกได้ยล ในบทความ “On the Electrodynamics of Moving Bodies”
คืนลงดาบ ขจัดเสี้ยนหนาม “The Night of Long Knives” เริ่มต้นวันที่ 30 มิถุนายน 1934 เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กวาดล้างปรปักษ์และคู่แข่งทางการเมืองในเยอรมนี อย่างเลือดเย็น
30 มิถุนายน วันรำลึกพิเศษถึงสองเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่สอง ในแง่การต่อสู้ชิงชัย วันนั้นในปี 1941 เยอรมนีบุกยึดเมืองลวิฝ, ยูเครน และในวันที่ 30 มิถุนายน 1944 ยุทธภูมิ Cherbourg - หนึ่งในสมรภูมินอร์มังดี - ปิดฉากลงด้วยชัยชนะของกองทัพอเมริกัน
เอ่ยถึงมิชิแกนกับความเร็ว รถเชฟโรเลต คอร์เว็ตต์ แล่นออกจากสายการผลิตในมิชิแกน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1953
สามปีให้หลัง เกิดโศกนาฏกรรมกลางอากาศฝังตรึงใจ เครื่องบินสองลำ หนึ่งคือสายการบิน TWA อีกหนึ่งคือยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ปะทะกันเหนือแกรนด์แคนยอน คร่าเหมาชีวิตผู้โดยสารทั้งสองลำ รวม 128 คน
วันที่ 30 มิถุนายน 1997 จีนเฉลิมฉลอง เมื่ออังกฤษมอบเอกราช คืนเกาะฮ่องกงแก่สาธารณรัฐประชาชนจีน
ในการพลิกชีวิต(ติดลบ)สู่ความเป็นเลิศ
ไมเคิล เฟลป์ส
แชมป์ 14 เหรียญทองโอลิมปิกปักกิ่ง
เรื่องจริงที่โลกไม่เคยรู้ในเกมชีวิตสุดทึ่ง!
กฤติยา รามโกมุท,นพดล เวชสวัสดิ์ : แปล
[ราคาปก 210 บาท]
บทที่ 1 เลี้ยงดูโดยแม่เลี้ยงเดี่ยวกับพี่สาวสุดวิเศษอีกสอง
ไมเคิล เฟลป์สเป็นทุกข์เป็นกังวลใจเหมือนเด็กเก้าขวบทุกคน นั่นก็คือ จะเลือกเล่นกีฬาใด ทำไมการบ้านถึงเยอะขนาดนี้ ครอบครัวเฟลป์ส ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังงามในฮาร์ฟอร์ดเคาน์ตี เขตชานเมืองบัลติมอร์
แต่เมื่อพ่อ-เฟรด ตำรวจทางหลวงกับแม่-เด็บบี ครูสอนคหกรรมศาสตร์ หย่าขาดจากกัน แม่หอบลูกทั้งสาม ย้ายมาอยู่ในทาวน์เฮาส์ในรอดเจอร์ ฟอร์จ เขตชานเมืองของชนชั้นกลางของบัลติมอร์
ฮิลารี พี่สาวคนโต ใกล้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย วิตนีย์ พี่สาวคนที่สองอายุใกล้เคียงกับไมเคิล เธอใช้เวลาเกือบตลอดเวลาดูแลน้องชาย เพราะแม่ต้องทำงานหนัก ทั้งดูแลบ้าน ในการงานอาชีพ แม่มุ่งไปหาสายงานบริหาร ก่อนจะได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมต้นในเวลาต่อมา และยังดูแลลูกอยู่ไม่สุขของเธอในกิจกรรมกีฬาทุกอย่างที่เลือกเล่น
ไมเคิลเป็นโรคซน-สมาธิสั้น หรือ ADHD-Attention Deficit / Hyperative Disorders โชคดีที่แม่พาไปหาหมอ และวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
"เขามีพลังงานเหลือเฟือ พูดไม่หยุด ถามไม่หยุดปาก เขามีปัญหาในโรงเรียน ไม่มีสมาธินานพอจะทำอะไรได้ ครูบอกว่าเขาไม่สงบพอจะเรียนรู้อะไรได้ เขาจะผลักคนโน้น ดึงคนนี้ ยุกยิกอยู่ตลอดเวลา เขาจะไม่รับฟังอะไรเลยถ้าไม่ใช่เรื่องที่เขาสนใจ" เด็บบี เฟลป์สให้สัมภาษณ์แก่นิตยสาร ***กู๊ด เฮาส์คีปปิง*** "หมอสั่งยาให้ไมเคิล เขาจะกินยาเฉพาะวันไปโรงเรียน จันทร์ถึงศุกร์เท่านั้น ไม่มีวันหยุดสุดสัปดาห์ ไม่มีการลาพักร้อน ไม่มีการพักผ่อนสำหรับพวกเรา แต่ฉันก็รู้ว่าเขาได้ประโยชน์จากยาในโรงเรียน"
วิตนีย์บอกว่าเธอตระหนักถึงโรคซน-สมาธิสั้นของน้องชาย
"ฉันโตแล้วตอนที่หมอวินิจฉัยโรคของเขา เขาต้องกินยาประจำ แม้ยังเป็นเด็ก เขามีพลังงานเหลือเฟือ ฉันคิดว่าคนอื่น ๆ ในบ้านก็น่าจะมีอาการนี้เหมือนกัน มากบ้างน้อยบ้าง ฉันเองนั่งนิ่ง ๆ ดูทีวีเป็นชั่วโมงไม่ได้ ฉันไม่มีสมาธิสนใจเรื่องเดียวได้นานนัก ไมเคิลก็เป็นแบบนั้น ฉันไม่เคยคิดว่าเป็นเรื่องประหลาดอะไร เด็กคนอื่น ๆ ก็ยุกยิกอยู่ไม่สุขเหมือนกัน"
ส่วนใหญ่แล้ว โรคซน-สมาธิสั้นอาจส่งผลกระทบต่อไมเคิลในชั้นเรียน แต่วิตนีย์ก็พอจะเห็นแล้วว่าส่งผลต่อตัวเขาในบ้าเช่นกัน ถ้าต้องนั่งอยู่กับที่นานพอ ไม่ว่าจะเป็นช่วงนั่งทำการบ้านหรือนั่งดูรายการทีวีนานพอ...ในยามที่เรื่องราวนั้นไม่ใช่เรื่องที่เขาสนใจ
"ในชั้นเรียน เขาอาจช้าลงบ้างเพราะต้องนั่งในห้อง แต่เด็กที่เป็นโรคซน-สมาธิสั้นนั่งไม่ได้ตลอดครึ่งชั่วโมง 45 นาที หรือว่าคาบละ 50 นาที" วิตนีย์ขยายความต่อ "หรือว่านั่งดูรายการทีวีตั้งแต่ต้นจนจบ ยากที่จะมีสมาธิจนจบเรื่อง แต่เมื่อออกจากห้องเรียนแล้ว กีฬาช่วยเขาได้มาเพราะต้องเพ่งสมาธิเรื่องเดียว เขาเล่นลาครอสส์กับเบสบอลตอนเป็นเด็ก หรือจะเป็นตอนลงสระกีฬา โรคซน-สมาธิสั้นไม่กวนใจเขาอีกแล้ว"
ฮิลารีเสริมว่าไมเคิลเล่นกีฬาได้เป็นเลิศในทุกประเภทที่เขาเล่น
"ไมเคิลเกิดมาเพื่อเล่นกีฬา ทุกประเภทเลย เขามีพลังงานเหลือล้น เขาวิ่งพล่านทั่วสนามลาครอสส์อย่างที่ไม่มีผู้เล่นคนไหนจะทำได้ ไมเคิลอยากชนะ เขาจึงทุ่มเททุกอย่างที่มี ฉันคิดว่าเขาไม่อาจชนะได้ทุกคราวไปถ้าต้องเล่นเป็นทีม เช่น ลาครอสส์หรือเบสบอล แต่ไมเคิลก็อยากชนะ และเมื่อเขามาเล่นกีฬาว่ายน้ำ เขาทุ่มเททุกอย่างที่มี เพื่อประกันให้ได้ว่าต้องชนะ"
ไมเคิลเห็นพ้องว่าเขามีปัญหาในโรงเรียน
"ผมอยู่ไม่สุข สนใจอะไรได้ไม่นาน" ไมเคิลให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ ***ซัน*** ในลอนดอน
เขาไม่ชอบใจนักในโรงเรียนมัธยมต้น ครูผู้หนึ่งตำหนิติเตียน และหยามเขาว่าอนาคตของเขามีอยู่จำกัด
"ครูคนหนึ่งในโรงเรียนมัธยมต้น ผมจำชื่อเขาไม่ได้แล้ว ด่าใส่หน้าผมว่าไม่มีทางทำอะไรได้สำเร็จในชีวิตนี้ เมื่อไหร่ที่ได้ยินคนมาสบประสาทแบบนั้น ผมก็ยิ่งทุ่มเทให้หนักยิ่งขึ้นเพื่อจะพิสูจน์ว่าเขาดูผิด นับเป็นฝันที่เป็นจริงที่ประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยมีทำได้มาก่อน"
เด็บบีตระหนักว่าลูกชายต้องการความช่วยเหลือในการรวบรวมสมาธิให้เพ่งที่จุดเดียว เธอไม่มีวันยอมให้ลูกชายใช้โรคซน-สมาธิสั้นเป็นข้ออ้างแก้ตัว
"เด็กต้องการกรอบโครงสร้าง ต้องการความคงที่สม่ำเสมอ" เด็บบีให้สัมภาษณ์เอพี "ฉันไม่สนใจว่าจะเป็นโรคซน-สมาธิสั้นหรือไม้ เขาต้องมีกรอบกำหนดแน่ชัด เพื่อจะขีดเส้นให้เขามุ่งหน้าสู่ความสำเร็จ"
คุณแม่กับพี่สาวทั้งสองและการว่ายน้ำ ช่วยให้ไมเคิลจัดการอาการผิดปกติได้
"ครอบครัวของเรากลายเป็นทีมงาน ลูกสาวดูแลอาหารการกินของไมเคิล" เด็บบีให้สัมภาษณ์เว็บไซต์***เอเวอรีเดย์ เฮลธ์*** "เราดูแลกิจกรรมบางเรื่อง จำกัดเวลาเขา เพื่อสอนให้เขาบริหารเวลา เขาเริ่มตัดสินใจเลือกได้ว่าเขาจะใช้เวลาทำเรื่องใดจึงจะเหมาะสมที่สุด ไม่ต่างไปจากตอนที่เขาลงสระ ไมเคิลมีจิตใจแกร่ง ความมุ่งมั่นเข้มข้น แต่เขารวบรวมสมาธิไม่ได้ แต่ทว่า แม้ในช่วงอายุ 8-9 ขวบในการแข่งขันว่ายน้ำ เขารวบรวมสมาธิได้สี่ชั่วโมง แม้จะใช้เวลาในการแข่งขันแค่ 3-4 นาที เพราะกีฬาว่ายน้ำเป็นความหลงใหลของเขา"
ฮิลารีให้ความเห็นว่าแม่ไม่ได้มีเพียงการศึกษาและการงานอาชีพที่เหมาะสมเท่านั้น เธอยังมีความอดทนเป็นเลิศที่จะดูแลบำบัดโรคซน-สมาธิสั้นของไมเคิล
"แม่อดทนข่มกลั้น ทุ่มเทอย่างหนักที่จะปลูกฝังค่านิยมให้แก่พวกเรา ฉันไปเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ก็ยังได้ข่าว เรื่องราวที่แม่ดูแลไมเคิล ช่วยเขาด้วยการฝึกให้วาดภาพในใจ กล่อมใจให้สงบในยามที่มีพลังงานล้นเหลือ แม่มีลูกเล่นเยอะ หากิจกรรมหลากหลายให้ไมเคิลทำ พลิกแพลงวิธีที่จะช่วยให้เขารวบรวมสมาธิไว้ได้"
การว่ายน้ำเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญช่วยให้ไมเคิลรับมือกับโรคสมาธิสั้นได้
"การลงสระช่วยให้ผมรวบรวมสมาธิได้ ไม่นาน ผมก็เติบใหญ่พ้นจากโรคนี้ไปได้" ไมเคิลให้ความเห็น
การเล่นลาครอสส์และเบสบอล จะเล่นกันในสนามกว้าง และต้องเล่นกันเป็นทีม อาจช่วยกล่อมผู้เล่นบางคนให้สงบลงได้
"การว่ายน้ำช่วยได้มากกว่านะ" วิตนีย์ให้ความเห็น "เพราะสระมีขอบเขตจำกัด วิ่งพล่านไปที่ไหนไม่ได้ สระให้โครงสร้างแน่ชัด และจำกัดพื้นที่ให้ทุ่มสมาธิได้"
ไมเคิลตกเป็นเหยื่อของการข่มเหงรังแกในโรงเรียนด้วยเช่นกัน
"เขาต้องรับมือกับการล้อเลียนและการข่มเหงจากเด็กอื่น" เด็บบีให้สัมภาษณ์กู๊ดเฮาส์คีปปิง "เขาตัวสูง ตัวยาว มือยาวเลยหัวเข่า เติบโตผ่านช่วงนั้นก็ทุกข์สาหัส แต่ฉันเชื่อว่าเมื่อรอดผ่านพ้นมาได้ เขาเป็นคนที่รู้ตนเองอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้"
ฮิลารีเล่าว่าไมเคิลทานรับการข่มเหงรังแก พี่สาวเพิ่งทราบว่าเด็กคนอื่น ๆ รังแกน้องชาย
"ชีวิตลำบากสาหัสเอาการ เด็กโหดร้ายข่มเหงกัน ฉันคิดว่าความทุกข์นี้ช่วยให้ไมเคิลเยือกเย็นมากขึ้น หากมีคนเขียนถึงเขาในแง่ลบ เขาจะนำมาใช้เป็นแรงกระตุ้นจูงใจ เขาจะใช้เรื่องร้าย เปลี่ยนให้กลายเป็นประสบการณ์เรียนรู้ และเคลื่อนผ่านเรื่องนั้นไป"
แม้ว่าการข่มเหงรังแกทำให้โรงเรียนหมดสนุก แต่เขาก็ชื่นชอบที่จะใช้เวลากับพี่สาวและเพื่อน ๆ
"ฉันกับไมเคิลอายุห่างกันมาก ตอนที่ฉันเรียนมัธยมปลาย เขาเพิ่งเรียนประถม" ฮิลารีกล่าวต่อ "ไมเคิลอยากออกไปเที่ยวสนุก ซึ่งก็หมายความว่าเขาร่ำร้องของติดสอบห้อยตามฉันไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ ในช่วงนั้น ฉันไม่อยากให้เขามายุ่งกับฉัน เพราะเขายุกยิกอยู่ไม่สุข แต่เขาก็เป็นเด็กดีมีน้ำใจนะ"
ฮิลารีเข้าเรียนมหาวิทยาลัยริชมอนด์ในช่วงที่ไมเคิลลงแข่งขันระดับแระเทศเมื่ออายุได้เพียง 11 ขวบ วิตนีย์ให้ความเห็นว่าการใช้ชีวิตร่วมกันในทาวน์เฮาส์ทำให้แม่ลูกสี่คนผูกพันกันแนบแน่น
"ฮิลารีไปเรียนมหาวิทยาลัย ในตอนที่เธอกลับมาเบี่ยมบ้าน เราจะปรับระบบเสียใหม่ ใครจะนอนบนโซฟา ใครจะนอนด้วยกัน หลังจากนั้นไม่นาน ฉันไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเนวาดาที่ลาสเวกัส ในบ้านก็เหลือแต่แม่กับไมเคิลสองคน เมื่อไหร่ที่เรามาพร้อมหน้าพร้อมตากันสี่คน บ้านแทบระเบิด มีกิจกรรมวุ่นวายเป็นบ้าเป็นหลังไปเลย เพราะเราทุกคนเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ ต้องฝึกซ้อม เราทำอะไรง่าย ๆ ว่าอะไรว่าตามกัน บ่อยครั้งที่หัวเราะนอนกลิ้งบนพื้น"
การที่พ่อทิ้งไป ครอบครัวใช้ประสบการณ์นี้ผูกพันกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
"เรามีกันอยู่แค่นี้ เรารักกันอย่างไม่มีเงื่อนไข" วิตนีย์กล่าว "ไม่ว่าจะเกิดอะไร เรามีบ้านให้กลับมาหาเสมอ เราทุกคนแน่ใจเรื่องนั้นได้ และจะมีใครสักคนรอพร้อมช่วยเหลือ ความผูกพันระดับนั้นที่ทำให้เราเป็นเราในปัจจุบันนี้"
เรื่องดีงามเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าไมเคิลจะแต่งงานกับสาวคนไหน เขารู้จักผู้หญิง รู้วิธีวางตัวเมื่ออยู่ใกล้ผู้หญิง...หลังจากใช้ชีวิตทั้งชีวิตในกลุ่มสตรีทั้งสาม
"เขาผ่านการฝึกอบรมบ่มนิสัยมาตั้งแต่ยังเล็ก ได้รับการฝึกมารยาทในการอยู่ร่วมกับผู้หญิง หลังจากใช้ชีวิตอยู่กับสุภาพสตรีทั้งสามมาแล้ว" วิตนีย์ให้ความเห็น
ในเมื่ออายุใกล้เคียงกัน วิตนีย์ใช้เวลาส่วนใหญ่กับน้องชายขี้อาย ลางคราวแก่แดด โตกว่าวัย
"ไมเคิลกับฉันห่างกันห้าปี อายุใกล้เคียงกัน" วิตนีย์เล่าต่อ "ไมเคิลกับฮิลารีเจ็ดปี เจ็ดปีนี่ห่างกันเยอะเลย เมื่อฮิลารีเข้ามัธยมปลาย ไมเคิลกับฉันใช้เวลาขลุกอยู่ด้วยกัน เพราะเราสนใจกีฬาว่ายน้ำเหมือนกัน เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ฉันจำได้ว่าเคยเล่นโรลเลอร์เบลดด้วยกัน เล่นโยนห่วง สอนให้ไมเคิลตัดหญ้า"
วิตนีย์ไม่รังเกียจเวลาที่ใช้ร่วมกับไมเคิล แม้จะถึงช่วงวัยที่เธอเข้าเรียนมัธยมปลาย เพราะตระหนักว่าแม่ทุ่มเทเสียสละให้ลูก ๆ มากแค่ไหน
"ฉันกางปีกปกป้องเขา เพราะแม่คนเดียวทำงานหนัก ดูแลเราทั้งสามคน แม่เป็นครู แต่เมื่อถึงช่วงฤดูร้อนปิดภาคการศึกษา แม่หาทำงานพิเศษทำเพื่อให้ครอบครัวเราอยู่รอด ไมเคิลกับฉันใช้เวลาอยู่ร่วมกันเกือบตลอดเวลา ลงสระว่ายน้ำ หรือไม่ก็เล่นในบ้าน บางคราว เขาจะออกไปเล่นกับเพื่อนข้างนอก หรือเล่นวิดีโอเกม ในช่วงเวลานั้น ฉันทำอาหารเช้าให้เขา ส่งเขาขึ้นรถเมล์ แต่ก็มีหลายครั้งที่เขาจะกวนประสาท ทำตัวน่ารังเกียจ...แต่ถ้าไปถามเขา เขาก็คงพูดแบบเดียวกัน"
วิตนีย์เชื่อว่าทุกคนในครอบครัวเป็นโรคสมาธิสั้น ไม่มากก็น้อย แม้จะไม่ร้ายแรงเท่าไมเคิล เพราะเธอเองรู้สึกว่าทำงานยุ่งดีกว่าอยู่เฉยๆ
"ฉันคิดนะว่าถ้าฉันไม่มีกิจกรรมวุ่นวายในครอบครัวและการฝึกซ้อม ฉันก็ไม่รู้ว่าจะจัดการยังไงกับตัวเองดี ฉันทำงานได้ดีถ้าตกอยู่ในภาวะโกลาหล ยิ่งมีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น ฉันก็ทำงานได้ดีขึ้น"
ไมเคิลกับแม่ผูกพันกันใกล้ชิด แต่แม่ก็ผูกพันกับลูกสาวมากเช่นกัน
"แม่แกร่งเหลือเชื่อ แล้วก็เป็นแม่สุดวิเศษ" ฮิลารีให้ความเห็น "แม่ตอกย้ำเสมอ เหมือนที่ยายเคยสอนมา แม่สอนเราให้จำจนขึ้นใจว่าคนเราทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีใครดีกว่าใคร เราควรปฏิบัติต่อทุกผู้ทุกคนด้วยความอ่อนโยนเหมือนที่เราปฏิบัติต่อเพื่อน เรานอบน้อม เผื่อแผ่ นั่นเป็นสิ่งที่เราได้จากแม่ เธอสอนให้พวกเราตัดสินใจ และแบกรับผลที่เกิดตามมาจากการตัดสินใจของเราเอง เธอคุยกับเราเสมอ ชี้ให้เห็นทางเลือก ชั่งน้ำหนักผลลัพธ์และผลที่จะเกิดตามมาจนเราเลือกการตัดสินใจที่เราติดว่าดีที่สุด ฉันแน่ใจว่าเป็นการยากสำหรับแม่ถ้าการตัดสินใจของพวกเรไม่เหกมือนกับที่แม่คิดเอาไว้ แต่แม่ก็ปล่อยให้เราตัดสินใจ และอยู่กับผลของการตัดสินใจนั้น แม่รอดูอยู่ข้าง ๆ รอรับฟัง รอให้คำปรึกษาปัญหาที่จะเกิดจากการตัดสินใจของเรา"
แม่มีลูกสามคน ลูกทั้งสามที่เล่นกีฬากันทุกคน วิตนีย์ซึ้งน้ำใจแม่ที่ทุ่มเทสุดตัว ไม่ยอมให้ลูกขมขื่นขาดไร้จากการมีแม่เลี้ยงเดี่ยว
"แม่เป็นหญิงมหัศจรรย์" วิตนีย์ให้ความเห็น "แม่มีลูกสามคน ทุกคนเป็นนักว่ายน้ำ ต่างระดับ ซึ่งก็หมายความว่าเวลาฝึกซ้อมไม่ตรงกัน ต้องหาหมวกว่ายน้ำ แว่นตา ชุดว่ายน้ำ และการเดินทางไปลงแข่งยังที่ต่าง ๆ เราสี่คนวุ่นวายทำกิจกรรมพล่านไปทุกทิศ แล้วเมื่อถึงช่วงอายุที่เราขับรถ ก็ต้องหารถยนต์ มีค่าน้ำมันค่าประกันภัย การเลี้ยงเด็กสามคนให้เติบใหญ่ต้องใช้พลังมหาศาล เธอทุ่มเททุกอย่างที่เธอมีอยู่เพื่อพวกเรา"