สินในหมึก
ข้าพเจ้าก็ได้พบเห็นกระดาษชนิดหนึ่งมามากมายเต็มที เป็นกระดาษที่กองบรรณาธิการ ได้รับมาเก็บไว้
พอเป็นตั้งสูงๆ ก่อความเกะกะให้มากเข้าทุกทีแล้วก็เอาทิ้งตะกร้าเสียทีหนึ่ง นี่คือกระดาษที่บรรจุนวนิยายเรื่องสั้นบ้างไม่สั้นบ้าง ซึ่งผ่านการอ่านคร่าวๆ แล้วว่าคุณค่ายังไม่เข้าถึงมาตรฐาน ที่สำนักพิมพ์นั้นปรารถนา"
...
"การปฏิบัติต่อกระดาษเหล่านี้เช่นนี้เป็นเรื่องจำเป็นจำใจที่หนังสือพิมพ์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะถ้าไม่ทำดังนั้นภายในระยะสองสามปีสำนักพิมพ์ก็จะต้องหาห้องใหม่ ซึ่งจะต้องใหญ่กว่าจะบรรจุกองบรรณาธิการทั้งกองไว้เป็นห้องเก็บต้นฉบับที่ไม่อาจพิมพ์ลงไปในหน้าหนังสือพิมพ์ได้เหล่านี้"
.........
"จากกระดาษที่ถูกโยนผลุงลงไปในตะกร้านี้เองก็ทำให้หลับตาเห็นบุคคลจำพวกหนึ่งซึ่งมีแทรกแซงอยู่ทั่วทุกสารทิศไม่ว่าจะเป็นเหนือหรือใต้ของเมืองไทย ไม่ว่าจะหนาวจัดหรือร้อนจัดเกินไป ไม่ว่าจะดึกดื่นค่อนคืน และจะเป็นจังหวัดที่มีไฟฟ้าอำนวยความสว่างให้หรือไม่ก็ตาม แต่บุคคลเหล่านี้ก็ยังหลังขดหลังแข็งฝักใฝ่อยู่กับสิ่งที่ตัวรัก โดยมิได้คำนึงความร้อนหนาวเกินไป หรือความขมุกขมัวประการใดเลย"
......
"บุคคลประเภทนี้นั่งหลังขดหลังแข็งจดจ่ออยู่กับสิ่งเดียว คือการประดิษฐ์คิดร้อยกรองตัวอักษรให้ออกมาเป็นเรื่องเป็นราว แล้วก็หวังไปฝันไปว่าเรื่องราวที่ตัวประดิษฐ์คิดแต่งขึ้นนั้น คงจะสบอัธยาศัยของผู้ที่ได้อ่าน ซึ่งโดยลักษณะการนั้นเขาก็ย่อมจะได้รับความชื่นใจ มาเป็นเครื่องบำรุงหัวใจของตนเอง"
....
"ข้าพเจ้าหลับตาเห็นความหมั่นหมาย ของเจ้าของกระดาษที่ถูกทิ้งตะกร้าว่าเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นทุกคราวที่เห็นกองกระดาษเหล่านี้ถูกกวาดลงไปสู่ตะกร้า จึงสุดแสนที่จะเจ็บปวดในใจแทน"
...
"ด้วยประการฉะนี้ ข้าพเจ้าซึ่งเป็นคนเลว ในเรื่องขี้เกียจเขียนจดหมายติดต่อกับใครๆ ในทางกิจการอย่างที่สุดก็จำต้องทรมานความรู้สึกของตัวเองนั่งลงตอบจดหมายของผู้ที่รักและริเริ่มการประพันธ์ ซึ่งถามไถ่ถึงการแต่งหนังสืออยู่เนืองๆ"
....
"จนกล่าวได้ว่าบัดนี้ข้าพเจ้าได้ตอบจดหมายของมิตรที่ไม่รู้จักหน้าจำพวกนี้ไปแล้วไม่น้อยกว่า 500 ฉบับ
การนั่งหลังขดหลังแข็งเพื่อทำสิ่งที่ส่งไปให้เขาโยนลงตะกร้า ก็เป็นไม้เรียวของความอำมหิตที่โลกได้ให้แก่ผู้รักและริเป็นนักประพันธ์อยู่แล้ว ข้าพเจ้าไม่อาจระงับความเห็นอกเห็นใจบุคคลจำพวกนี้จึงต้องตอบจดหมายไปปลุกปลอบและบางทีก็แนะนำไปตามทีตามเกิด"
...
"ก็จดหมายที่เขียนเพื่อการปลุกปลอบมิให้คนท้อแท้เสียกำลังใจนั้นจะเขียนกันบรรทัดสองบรรทัดได้เมื่อไรเล่าและทั้งที่ต้องเขียนยาวอยู่แล้วแต่จะให้เขียนยาวจนจุใจความ ที่อยากแนะนำเป็นแต่ละรายบุคคลนั้นย่อมเหลือวิสัย"
...
"จึงมีทางเลือกเดียวก็แต่เขียนถึงสิ่งที่ตนสำคัญว่า จะมีประโยชน์ออกไปให้แพร่หลายเสียในคราวเดียว
คือผ่านการเป็นตัวพิมพ์ออกมา “สินในหมึก” จึงเกิดขึ้นดังนี้"
......
"การจดปากกาลงไปในสิ่งที่ตนเองพรั่นพรึงอย่างยิ่ง แต่ก็ยังฝืนทำมันออกมา ก็เพราะความเห็นอกเห็นใจ
ในเพื่อนผู้มารักศิลปะอันเดียวกันดังนี้ และชะรอยเป็นกุศลที่วิชาชีพทางประพันธ์ จะคลี่คลายขยายตัวออกไปในแผ่นดินไทยเบื้องหน้าอย่างหนึ่ง “สินในหมึก”ที่เขียนลงในประชามิตรด้วยความหวาดหวั่นพรั่นพรึงนั้น
จวบจนบัดนี้ก็ยังมิได้ยินเสียงถุยน้ำลายใส่ข้าพเจ้าเลย สาธุ"
สินในหมึก
ภาค 1
1.
พนิดาของฉัน
คุณรู้ไหม ว่าการน้อยใจแล้วตีโพยตีพายของผู้หญิงน่ะ ฉันคุ้นเสียจนชอบแอบหัวเราะ แต่เจ้าสิ่งนี้เมื่อมาปรากฏที่คุณ ฉันมิได้หัวเราะเลย ได้สงบงันไปเพราะความตื่นเต้นและเต็มตื้นด้วยความปีติอย่างหาที่เปรียบมิได้ทีเดียว ความน้อยใจของพนิดาเป็น “บทเรียนด้วยของจริง” อันมีค่าสูงแก่ความรู้สึกของมนุษย์ผู้ชอบล้อโลกเป็นอันมาก
...
ทั้งการตีโพยตีพายนั้นเล่า ก็ชั่งเป็นการตีที่ถูกจุดอ่อนของฉันอย่างจังที่สุด เป็นการตีถูกชนิดที่ฉันไม่เคยถูกใครตีเช่นนั้นมาก่อนเลย
อภินิหารของถ้อยคำนี่ชั่งมหัศจรรย์จริงหนอ สามารถทำให้หัวใจคนฉ่ำชื่นทั้งๆ กำลังถูกเชือดชำแหละอยู่ที่ตรงหัวใจนั้นเองถูกอย่างที่คุณคิดแล้ว แม่ดวงจันทร์ในน้ำของฉัน ที่ว่าความเป็นผัวจริงจังของผู้ชายอย่างฉันก็คือความตายเข้าไปค่อนชีวิตของกุลสตรี
ฉันรู้จักตัวฉันเองดีนัก และนี่ก็คือการตีถูกจังที่สุด จึงขอสนับสนุนการตีโพยตีพายประโยคนี้ด้วยความเห็นอกเห็นใจทีเดียว
แต่ถึงจะสนับสนุนในเชิงรับผิด
ฉันก็ไม่ขออภัยในความผิดอันเป็นเหตุแห่งการตีโพยตีพายของคุณ
ฉันจะทำอย่างไรให้กับการตกลงใจที่พอใจเสียแล้ว ฉันจะล้อโลกให้ถึงที่สุด
เพื่อจะดูสิว่าตัวเองจะเป็นอย่างไร
และถ้าเสียท่าก็จะโยนความผิดพลาดในชั่วชีวิตนี้ให้แก่คำสาปของพรหม
พนิดาจึงมีสิทธิ์ที่จะตีโพยตีพายได้ต่อไปตลอดกาลที่คุณยังมีความอดทน
ส่วนความน้อยเนื้อต่ำใจนั้น ยอดรักของฉันย่อมรู้ว่าฉันรับผิดชอบง่ายก็ต่อเมื่อฉันแน่ใจว่าตัวเองทำผิด เพราะฉะนั้นในกรณีซึ่งก่อให้พนิดาเกิดความน้อยใจนี้ มหาโจรใจอ่อนของคุณจะไม่ยอมรับผิดเป็นอันขาด
จริงอยู่แม้ว่าจะเคยฟังปรารภมาหลายครั้ง และทั้งในระยะนี้ก็ยังจะต้องรับว่ายิ่งได้ยินถี่เข้า แต่ฉันก็ไม่มีโอกาสได้รู้ถึงความประสงค์แท้จริงเบื้องหลังการพูดถึงบ่อยๆ ของคุณนั้นเลย
ขอให้พิจารณาอย่างยุติธรรมเถิด ฉันเดินมาแต่หนไหน หรือมีแว่นทิพย์อันใดอยู่ในมือเล่าจึงจะได้ลอดรู้เข้าไปถึงส่วนลึกแห่งห้องหัวใจของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเคราะห์กรรมดลเธอมิให้หยุดรักชายชั่วคนหนึ่งได้ แต่เธอก็สุดแสนจะเปิดหน้าออกมาสู้กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางหยามหยันทั้งหลายได้
ดังนั้นความน้อยใจจึงบันดาลให้เธอระบายถ้อยคำที่มีชีวิตออกมาว่า “เลิกบ้าที่ไปนั่งหวังช่วยโจรใจเพชรให้เป็นคนดีเสียที ฉันจึงเกิดต้องการแรงกล้าที่จะแต่งงานกับการแต่งหนังสือ เพราะนี่เป็นสิ่งเดียวในโลกแท้ๆ ที่คุณมีให้ฉันระลึกถึงได้ โดยไม่ต้องนึกแช่งด่าตัวเองควบไปด้วย” อนิจจา
ฉันไม่รู้เลยว่าระยะนี้ที่พนิดาเซ้าซี้ถึงเรื่องนี้ยิ่งขึ้น ก็ด้วยได้กำหนดความปรารถนาไว้เช่นนี้เองนี่ฉันทำบาปใหญ่ไว้กับดวงใจเยาวมิตรที่ดีที่สุดในชีวิตและมีวิธีเดียวที่จะลดบาปอันนี้ได้ ก็ด้วยต้องพูดในเรื่องที่ฉันกระดากใจไม่อยากพูดฉะนั้นหรือ?
ฉันเกลียดทุกคนที่ถามฉันถึงหลักเกณฑ์วิธีแต่งหนังสือ แม้ว่าผู้ถามนั้นๆ จะน่าสนับสนุนเพราะเหตุมีใจมาจดจ่อในงานที่ฉันรักก็ตาม
ฉันเกลียดเพราะข้อถามชนิดนี้เท่ากับต้อนให้ฉันออกไปยืนในที่ที่จะได้รับความอับอาย และได้ยินแต่เสียงถุยน้ำลาย อาชีพของฉันคือการเขียนหนังสือ ชีวิตฉันแขวนอยู่กับการแต่งหนังสือ แต่ถ้าจะพูดถึงวิธีทำก็มีความอัดอั้นตันใจ
ไม่ใช่ไม่มีวิธีทำ
จะบอกว่าไม่มีนั้นไม่ได้
ขืนพูดเช่นนั้นตัวหนังสือที่ฉันเขียนไว้ก็จะลุกขึ้นมาเต้นปรักปรำว่าฉันเป็นคนโกหกกลางเมือง
วิธีและหลักเกณฑ์น่ะมี แต่ทีนี้กลัวว่าถ้าเทียบเคียงกับหลักเกณฑ์ของท่านผู้รู้ หลักซึ่งได้จากความไม่รู้หลักของฉันก็จะกลายเป็นฟองสบู่ไป
อันที่จริงหลักเกณฑ์ในการประพันธ์นั้นเห็นสาธยายกันไว้หลายต่อหลายรายแล้ว แต่ท่านนั้นๆ เป็นผู้รู้ทรงคุณวุฒิอันดีฝ่ายการหนังสือ ท่านจึงสามารถแยกแยะชั้นเชิงของการประพันธ์โดยลำดับหลักเกณฑ์ว่า
อะไรก่อนอะไรหลังได้แม่นยำตามวิวัฒนาการแห่งวิชาอักษรศาสตร์
ส่วนฉันนั้นนอกเสียจากจะเรียกตัวเองว่าผู้รู้ในเชิงอักษรศาสตร์ไม่ได้แล้ว เพื่อความบริสุทธิ์แก่ใจแห่งตนก็ซ้ำจะต้องเน้นให้แน่ตระหนักลงไปอีกว่า ตนยังต่ำต้อยในวิชาการอันนี้อยู่จริงๆ
แต่ถ้าเผอิญจะมีสักสิ่งหนึ่งที่พอจะหนุนใจตนเองให้ถึงกับกล้าเขยิบขึ้นมาพูดเรื่องขีดๆ เขียน ๆ โดยทำนองแนะนำแก่ผู้ริเริ่มบ้างแล้ว เจ้าสิ่งนั้นก็ต้องเป็นความที่ตนเองได้ทำฝากไว้เป็นอย่างแปลกประหลาดอยู่บ้าง
สำหรับวงแคบแห่งการประพันธ์นวนิยายของเมืองไทย นับแต่อดีตมาจนปัจจุบัน
แต่ถึงแม้จะมีงานทำไว้แล้วสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ฉันก็ยังอดพรั่นพรึงเสียมิได้ เมื่อจะต้องชี้แจงถึงหลักเกณฑ์ที่กุศลได้บันดาลให้ตัวได้พบเห็นเอง
แต่ถึงจะหวาดหวั่นพรั่นพรึงเพียงไร บัดนี้ก็เข้าที่คับขัน จำต้องกัดฟันทำใจกล้าพูดถึงสิ่งที่ไม่เคยเต็มใจจะบอกเล่าแก่ใครออกไป เพราะยอดหญิงของฉันตัดรอนฉันแล้ว เขาจะแต่งงานกับการแต่งหนังสือ ฉันก็มีทางแต่จะพยายามทำหน้าชื่นอวยชัยให้พรเขา แล้วก็แอบเอาจูบลอบเหน็บหลังการแต่งหนังสือหรือขอเรียกว่ายอดรักคนใหม่ของเขาไป
โอ้ ผู้หญิงคนนี้จะใจแข็งสักเพียงไหนหนอ เขาจะระลึกถึงฉันบ้างไหมหนอ เมื่อหัวใจเขาได้ถูกจูบอยู่ทุกคราวที่มือเขาจับงานประพันธ์
ฉันจะปลุกปั้นพนิดาให้เป็นนักประพันธ์มีชื่อให้จนได้ จะพยายามทุกวิถีทางที่ฉันนึกว่าจะช่วยให้คุณบรรลุความสำเร็จในงานประเภทนี้
เพราะในความสำเร็จของพนิดานี้เอง ผู้ชายที่ถูกปักหน้าตราชื่อว่าเป็นโจรก็จะได้นอนหลับสนิทอยู่ในดวงหทัยของราชินีองค์หนึ่งแห่งโลกการประพันธ์เมืองไทย
[ยังมีต่อในเล่ม]
“สินในหมึก” ของ ยาขอบ
ประกายพฤกษ์ ศรุตานนท์ เจ้าของลิขสิทธิ์
สำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม จัดพิมพ์ซ้ำโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ถูกต้อง
Copyright © 2009 by Freeformbooks, Lomdee Co.,Ltd. All rights reserved.
© สงวนลิขสิทธิ์โดยฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์ ในนามบริษัท ลมดี จำกัด ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของหนังสือเล่มนี้ไปลอกเลียน ทำสำเนา ถ่ายเอกสาร หรือนำไปเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต หรือสื่อชนิดอื่นๆ ไม่ว่าในรูปแบบใด นอกจากจะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
คำนิยม“สินในหมึก”ยาขอบ
จาก วัฒน์ วรรลยางกูร
คิดแบบ ‘ยาขอบ’
ในความรู้สึกนึกคิดของผม (วัฒน์)
ศรีบูรพา น่านับถือ
ยาขอบ น่ารัก
เรียมเอง น่าเคารพ
ฮิวเมอริสต์ น่าขำ
ทั้งนี้ดูจากความคิด งานเขียน และการใช้ชีวิต
ที่สำคัญผลงานของสอง-สามนักประพันธ์นี้ ทำให้ผมหลงใหลงานประพันธ์ตั้งแต่วัยมัธยม
วาระนี้ขอกล่าวเฉพาะ ยาขอบ
ยาขอบโด่งดังจากการเขียนนิยายเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ตั้งแต่ปี 2475 ขณะอายุเพียง 25 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 ในวัย 36 ปี ยาขอบได้เขียนหนังสือชื่อ ‘สินในหมึก’
สินในหมึก หมายถึงการทำมาหาทรัพย์สินได้จากการใช้ปากกาขีดเขียนเส้นหมึกเป็นตัวอักษร ราวกับเป็นงานเสกกระดาษให้เป็นเงินได้อย่างน่าอัศจรรย์
ยาขอบ ผู้ผ่านการเป็นนักเขียนขายดี ชนิดคนอ่านต้องมารอซื้อหนังสือถึงโรงพิมพ์ ย่อมมีความเหมาะสมที่จะเขียนหนังสือ สินในหมึก
สินในหมึก หากเรียกอย่างทุกวันนี้ ย่อมเป็นหนังสือประเภท how to เพียงแต่เป็นฮาวทูที่ลงลึกในเรื่องของชีวิต เรื่องของความคิด มิใช่ฮาวทูที่บอกเทคนิค เคล็ดลับดาดๆ
สินในหมึก เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ช่วยชี้ทางให้ผมในระยะเริ่มต้นฝึกฝนการประพันธ์ เช่นที่ ยาขอบ บอกว่า
“เขียนจากการปฏิบัติเข้ามาหาทฤษฎี”
คือให้เขียนไปตามความรู้สึก โดยไม่ต้องไปกังวลเรื่องของกรอบเกณฑ์ต่างๆมากนัก เช่นว่าสารคดีต้องเขียนอย่างนั้น เรื่องสั้นต้องมีตัวละครเท่านี้ กลอน โคลง ต้องเขียนแบบนี้เท่านั้น เพราะหากเราไปขึ้นต่อคำจำกัดความ หรือกรอบเกณฑ์ต่างๆมากเกินไป ก็อาจทำให้เขียนไม่ออก
เขียนไปตามใจปรารถนานั้นดีที่สุด
โดย ยาขอบ เปรียบเทียบว่า เหมือนคนที่ชกมวยแรกเริ่มนั้น ยังไม่มีใครชกเก่ง ชกเป็นหรอก ก็ชกไปงูๆปลาๆตามสัญชาตญาณ และถ้าสามารถประคองตัวมาได้ ก็แสดงว่า การชกของเราไม่ขี้ไก่ จากนั้นค่อยเรียนรู้ทฤษฎีต่างๆจากครูมวย จะปฏิเสธทฤษฎีเสียเลยมิได้
แต่ถ้ารอเรียนทฤษฎีจนช่ำชอง แล้วค่อยขึ้นสังเวียนชก ก็เหมือนคนเรียนว่ายน้ำโดยไม่เคยลงน้ำนั่นเอง เรียนให้ตายก็ว่ายน้ำไม่เป็น
นี่คือหลักคิดของ ยาขอบ ให้เริ่มเรียนจากการลงมือทำ
จำได้ว่า สมัยผมเป็นเด็กวัด หลวงพี่มหาสอนว่า บัณฑิต แปลว่า ผู้ได้ลูบคลำ ผมโดนหลวงพี่อำหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เพราะไม่รู้ลึกทางบาลีสันสกฤต แต่ฟังแล้วหลวงพี่สอนได้เข้าท่า การจะเป็นผู้รู้ ก็ต้องผ่านการปฎิบัติ แบบ สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็น ไม่เท่ามือคลำ คำสอนอันเฉียบขาดของหลวงพี่นี้ ผมไม่อาจคัดง้างได้ ก็เลยเชื่อท่านมาตลอด และบังเอิญมาตรงกับความคิดของ ยาขอบ ในเรื่องการประพันธ์
เช่น เมื่อเราอ่านทฤษฎีการเขียนเรื่องสั้น มีเกณฑ์ว่าเรื่องสั้นควรมีตัวละคร 4-5 ตัว แต่เรื่องสั้นบางเรื่อง เราอาจมีตัวละครหลายสิบตัวก็ได้ ตามที่เราเห็นว่าเหมาะสม
คิดแบบยาขอบ คือคิดจากปฏิบัติเข้ามาหาทฤษฎี ลองทำดูก่อน แล้วค่อยเข้าสู่กรอบเกณฑ์บังคับ
ข้อต่อไป ยาขอบ เขียนไว้ในสินในหมึกว่า
“ผู้ที่ต้องการบรรลุความมีชื่อในการประพันธ์ ต้องสลัดความเหิมเห่อออกไปจากตนให้ได้เสียก่อน ความเหิมเห่อนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เมื่อหลุดเข้าไปอยู่ในหัวของผู้ใด ก็ย่อมจะทำให้หัวของผู้นั้นสูงขึ้น จนยากแก่การจะเกาหัวตัวเองให้ถึงทีเดียว”
และในประเด็นใกล้เคียงกัน ยาขอบเขียนไว้ใน สินในหมึก ว่า
“มิตรแท้เป็นสิ่งสำคัญข้อต้นในหนทางของการประพันธ์ เพราะการจะกล้าเตือนกันในความเห่อเหิมฟุ้งซ่านนั้น จะหาได้ง่ายก็แต่ในมิตรแท้เท่านั้น”
คิดแบบยาขอบข้อนี้เข้าใจง่าย พูดได้ว่า การจะเป็นนักประพันธ์มีชื่อเสียงนั้น ต้องเป็นไปโดยมีสติรู้ตัว ไม่เห่อเหิมหลงใหลจนเกินการ ยาขอบเตือนด้วยความเปรียบประชดประเทียดคมคาย คือการเป็นนักประพันธ์ในยุคโน้น (พ.ศ. 2475) ยุคที่คนรู้หนังสือยังมีน้อย การเป็นนักประพันธ์จึงไม่ธรรมดา เป็นผู้มีเกียรติสูงส่ง ซึ่งหากเห่อเหิมก็จะอยู่ในอาการ ‘หัวสูงจนยากแก่การเกาหัวตัวเองได้ถึง’ ทีเดียวเชียว จะสูงสักขนาดไหน จึงเอื้อมมือเกาหัวตัวเองไม่ถึง ลองจินตนาการดู ร้ายกาจจริงๆปากคอ..บรมครู ยาขอบ
ทุกวันนี้การเป็นนักประพันธ์ เป็นกวี เป็นคอลัมนิสต์ อาจจะไม่ใช่เกียรติยศสูงส่งอย่างสมัยโน้น คนรู้หนังสือ คนมีความรู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆมีมากมายหลายหลาก แต่การเตือนใจมิให้เห่อเหิมเกินไป (จนเกาหัวตัวเองไม่ถึง) ก็สามารถเตือนใจได้ทุกสาขาวิชาชีพ
สำหรับในสาขานักเขียน ข้อเตือนใจมิให้เห่อเหิม มีความจำเป็น เวลาที่เรากลายเป็นนักเขียนขายดี นักเขียนมือรางวัล เช่น รางวัลพานแว่นฟ้า รางวัลเซเว่นบุ๊คฯ รางวัลซีไรต์ รางวัลศรีบูรพา....พอถึงรางวัลศรีบูรพา ผม(วัฒน์) ก็รู้สึกคันศีรษะขึ้นมาทันที พยายามเกาหัวตัวเอง ปรากฏว่าเอื้อมมือสุดแขนก็เกาได้แค่ใบหู –ฮา
ข้อสำคัญ ยาขอบบอกว่า เราต้องมี ‘มิตรแท้’ ที่ไม่ใช่แค่บริษัทประกันภัย แต่หมายถึง เพื่อนหรือคนรู้ใจใกล้ชิด ที่กล้าพูดความจริงกับเราในทุกเรื่อง
เพื่อนแท้ มิตรแท้ ที่อ่านต้นฉบับบทกวี เรื่องสั้น หรือข้อเขียนต่างๆของเรา แล้วกล้าพูดกับเราอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีอคติแบบฉันทาคติ (เอนเอียงเพราะรัก) หรือโมหคติ (เอนเอียงเพราะหลง) หรือ โทสคติ (เอนเอียงเพราะโกรธเกลียด) แถมยังช่วยดูออกว่า เราเกาศีรษะถึงหรือไม่อีกด้วย
คิดแบบยาขอบ ข้อต่อไป จากหนังสือสินในหมึกว่า
“ความเป็นนักประพันธ์คือเป็นผู้รู้คน”
“ธาตุแท้ที่กุมกันขึ้นเป็นนักประพันธ์ ปลีกตัวออกไปจากความรู้มากหรือรู้น้อยในด้านอักษรศาสตร์เสียแล้ว แต่ทะเล้นไปปรากฏตัวอยู่ในด้านความเป็นผู้รู้มนุษยศาสตร์ คือรู้คน รู้จักว่าคนคืออะไร ภาวะแวดล้อมคนมีอย่างไร ความรัก ความโกรธ ความโหดเหี้ยมและเมตตาปราณี เป็นกลไกที่บงการการกระทำต่างๆของคนเพียงไร ยิ่งรู้คนมากขึ้นเท่าไหร่ ธาตุแท้ของนักประพันธ์ก็ยิ่งกุมกันแน่นแฟ้นมากขึ้นเท่านั้น”
คิดแบบยาขอบ ย้ำว่าความรู้สำคัญที่สุดของการเป็นนักประพันธ์ เป็นกวี เป็นศิลปิน คือ ‘รู้คน’ ซึ่งความรู้ชนิดนี้ เรียนรู้ได้จาก มหาวิทยาลัยชีวิต จึงไม่แปลกว่า กวี นักประพันธ์ จะมีวุฒิปริญญาอะไร ขอเพียงแต่เขามีความรู้ในเรื่องของคน ซึ่งโดยมากก็มักมาจากประสบการณ์ชีวิตที่ตรากตรำ ดังเช่นยาขอบ ในวัยเด็กเติบโตมาอย่างระหกระเหิน ไม่เคยได้อยู่ครบหน้าพ่อแม่ลูก ต้องเร่ร่อนไปเป็นจ็อกกี้ เร่ร่อนไปอยู่กับท้าวพระยาคนนั้นคนนี้ ซึ่งระหว่างความระหกระเหิน ยาขอบได้เรียนรู้เรื่องคน ทั้งจากการสังเกตในชีวิตจริง และจากการอ่านหนังสือ สำคัญที่สุดคือการมีประสบการณ์ทางอารมณ์ ผ่านช่วงชีวิตเงียบเหงาว้าเหว่อย่างเด็กที่ครอบครัวไม่สมบูรณ์ และผ่านช่วงชีวิตวัยหนุ่ม ที่พบรสรักอันรื่นรมย์ เป็นที่มาของข้อเขียนน่าอ่านหลากหลาย
ยาขอบเน้นว่า การรู้คน คือรู้ว่า ภาวะแวดล้อมอย่างไรทำให้คนมีความรัก ความโกรธ ความเหี้ยมโหด เมื่อเราจะพรรณนาบทบาทตัวละคร จึงต้องเข้าใจให้ทะลุปรุโปร่ง ทำไมคนนี้จึงมีบทบาทโหดเหี้ยม ทำไมตัวละครนี้จึงมีบทบาทเมตตากรุณา ล้วนเป็นเรื่องมีที่มา ซึ่งนักประพันธ์มีหน้าที่อธิบายที่มาเหล่านี้ด้วยความรู้ในเรื่อง ‘คน’
มิใช่จู่ๆ ตัวละครที่เคยดีมีเมตตา ก็กลับกลายเป็นอ้ายผู้ร้ายใจทมิฬขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย ไม่มีแซกโซโฟน
เท่านี้ก็มากโขสำหรับทีเด็ดเคล็ดลับจากความคิดของยาขอบ ในหนังสือสินในหมึก
ที่จริงความรู้เรื่องคน มิได้จำเป็นเฉพาะในการทำงานประพันธ์ผู้เสาะหาสินในหมึกหรอก เพราะทุกคนทุกอาชีพต้องมีความรู้ในเรื่องคน เมื่อเราต้องอยู่กับคน กระทบสัมผัสผู้คนอยู่ทุกวัน นับตั้งแต่ต้องรู้จักว่า คนที่เราสัมผัสสัมพันธ์ในแต่ละวันนั้น ใครเป็นอย่างไร คนไหนใจดี คนไหนใจดำ คนไหนคิดอะไร ฯลฯ การเรียนรู้เรื่องคน จะต้องเรียนรู้ทุกวันไม่สิ้นสุด เพื่อที่เราจะได้เข้าใจคน และอยู่กับคนอย่างปกติสุข
รู้เรื่องคนจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักประพันธ์ เพราะต้องบรรยายเรื่องคน อาชีพอื่นๆก็ต้องรู้เรื่องคน ความรู้เรื่องคน จึงไม่ได้ผูกขาดอยู่ในผู้มีอาชีพขายกาแฟเท่านั้น (ขายกาแฟต้องคนกาแฟ มิฉะนั้น ขม..)
คนเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบกับเรามากที่สุด
ขนาดโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ เรายังต้องเรียนรู้ โดยที่ความเป็นจริง เราสามารถหลีกเลี่ยงไม่ข้องเกี่ยวสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ก็ได้ ถ้าเราไม่อยากข้องเกี่ยวจริงๆ ต่างจาก ‘คน’ ที่เราหลีกหนี หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เราจึงต้องสัมพันธ์และต้องเรียนรู้อย่างยิ่ง
คิดแบบยาขอบข้อต่อไปจากหนังสือสินในหมึกบอกว่า
“นักประพันธ์ย่อมปลอดโปร่งพอจะดูสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วกับตนเหมือนเรื่องละคร ถ้าใครขาดสิ่งนี้ ไม่ใช่ขาดพรสวรรค์ แต่ขาดธาตุแท้ของนักประพันธ์ ขาดพรสวรรค์เป็นนักประพันธ์ได้ แต่ไม่ดี แต่ขาดธาตุแท้เป็นไม่ได้ ขาดจินตนาการอันซาบซึ้งเป็นนักประพันธ์ที่ดีไม่ได้ แต่ขาดความปลอดโปร่งอันเป็นบ่อเกิดของจินตนาการ เป็นนักประพันธ์ไม่ได้ทีเดียว!”
ความคิดข้อนี้ของยาขอบ บอกเราถึงการเป็นผู้มีใจเที่ยงดั่งเข็มนาฬิกาเมื่อ 12 นาฬิกา ว่าแม้แต่เมื่อมองเรื่องราวในชีวิตตัวเองก็ต้องมองอย่างเที่ยงธรรม ไม่เอนเอียง สามารถมีใจอุเบกขา มองเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตตัวเองเหมือนดูหนังละคร มองเห็นที่มาที่ไปโดยไม่ลำเอียง คนเราจะเขียนประพันธ์เรื่องราวใดๆที่สุดย่อมไม่พ้นเขียนจากประสบการณ์หรือเรื่องราวตัวเอง ยาขอบย้ำว่า ธาตุแท้นักประพันธ์ คือสามารถมองเรื่องราวในชีวิตตัวเองเหมือนดูหนังดูละคร ไม่ลำเอียง หากขาดคุณสมบัตินี้ก็คือขาดธาตุแท้นักประพันธ์ทีเดียว!
ที่สำคัญต้องมี สมาธิ จึงจะ “ปลอดโปร่งอันเป็นบ่อเกิดจินตนาการ” คนไม่มีสมาธิ คนอยู่นิ่งไม่ได้ อยู่คนเดียวไม่เป็น ยาขอบบอกว่าเป็นนักประพันธ์ไม่ได้เลยทีเดียว
ขาดธาตุแท้นักประพันธ์เป็นปัญหาฉกรรจ์ยิ่งกว่าขาดพรสวรรค์
ข้อต่อมา คิดแบบยาขอบ จากสินในหมึก คือ เกี่ยวกับการดำรงชีวิตในอาชีพนักประพันธ์
“การประพันธ์ในเมืองไทยเป็นอาชีพที่อยู่ได้ ไม่มีไส้แห้งตาย ในเมื่อเป็นนักประพันธ์ แล้วก็ดำเนินชีวิตอย่างนักประพันธ์ อย่าริไปดำเนินชีวิตอย่างเจ้าของบ่อน้ำมัน”
ข้อนี้ก็ชัดเจนว่าให้รู้อยู่รู้เป็นตามฐานะที่เหมาะสม เป็นเจ้าของบ่อน้ำมันนั้นเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก สามารถจ้างนักร้องสาวสวยมาขับกล่อมในฮาเร็มได้ แต่เป็นเจ้าของบ่อน้ำหมึก ‘ลมใต้ปีกกวี’ แม้น้ำหมึกจะมีหลั่งไหลไม่ขาดสาย เป็นบ่อน้ำพุแห่งความคิดฝันอันไม่สิ้นสุด แต่ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเจ้าของบ่อน้ำมันได้หรอก ฮิ-ฮิ
เป็นเจ้าของบ่อน้ำหมึก ไม่มีไวน์ขวดละหมื่นแสนมานั่งจิบได้ แต่ใช้สมองสักหน่อย อาจหาไวน์ผลไม้ไทยราคาย่อมเยามาจิบได้ หรือเรียนรู้วิธีทำสาโท ทำไวน์ เผลอๆได้ขายเป็นค่ากับข้าวอีกด้วย
ไม่รวยต้องรู้จักใช้สมอง
ข้อคิดส่งท้ายของความคิดแบบยาขอบ บอกว่า
“เกิดเป็นคน ตายไปแล้วทำให้คนอยู่ต้องระลึกถึง ก็นับว่าเป็นคนกับเขาชาติหนึ่งไม่เสียเปล่า”
การเขียนหนังสือ งานประพันธ์ ก็เป็นงานชนิดหนึ่งที่สามารถทำให้คนเขียน คนประพันธ์เป็นที่จดจำของคนรุ่นหลัง แม้ว่าเขาได้ตายไปแล้ว กังที่เราได้มารำลึกถึง ยาขอบ หรือโชติ แพร่พันธุ์ ผู้ตายไปตั้งแต่ 5 เมษายน พ.ศ. 2499
เรารำลึกถึงเขา เพราะเขามีความคิด มีข้อเขียนที่เราอ่านแล้วได้สาระบันเทิง ได้แง่คิดคมขำ
นี่คือความคิดแบบยาขอบ จากหนังสือ สินในหมึก
Copyright © 2009 by Freeformbooks, Lomdee Co.,Ltd. All rights reserved. © สงวนลิขสิทธิ์โดยฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์ ในนามบริษัท ลมดี จำกัด ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดของหนังสือเล่มนี้ไปลอกเลียน ทำสำเนา ถ่ายเอกสาร หรือนำไปเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต หรือสื่อชนิดอื่นๆ ไม่ว่าในรูปแบบใด นอกจากจะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น